.

.
"สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข"
ข่าวประชาสัมพันธ์



ขอประกาศเลิกอัฟเดทข้อมูลที่Blogแห่งนี้
สามารถเข้าไปใช้งาน website อย่างเป็นทางการได้ที่
http://www.tsa-bhu.org/


ข่าวเด่น

* ขอแสดงความยินดีแด่.. พระครูใบฎีกา ดร. มานิตย์ เขมคุตโต , พระมหา ดร. ธีรชัย ปุญฺญชีโว , พระ ดร. ราเชนทร์ วิสารโท ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ B.H.U. ในปี ๒๕๕๓






* สมาคมพระนักศึกษาไทย มหาววิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันลงอุโบสถ ที่วัดไทยสารนาถ พร้อมเจริญพระพุทธมนต์ ณ ธัมเมกขสถูป เนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์





สมาคมพระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสีได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ "๑๓ เมษา เสนคุปต้ามหาสงกรานต์" ประจำปี ๒๕๕๓ ณ หอเสนฯ โดยมีคณาจารย์ทางมหาลัย และต่างชาติเข้าร่วมนับร้อยชีวิต ในวันที่ ๑๓ เมษายน ที่ผ่านมา





* พระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันจัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ (๕ ธันวามหาราช) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล





* ๕ ธันวามหาราช ขอเชิญร่วมถวายภัตตาหารเพลพระนักศึกษาไทย และนานาชาติ จำนวน ๘๒ รูป และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรได้ที่ หอเสนคุปตลอล์จ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒





* กฐินสังฆประชาสามัคคี ณ หอเสนคุปตาลอจ์ด มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นำโดย พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


สะเดา

ฉันจำได้ลืนลาง นานมาแล้วที่ไม่ได้ป่ายปีนต้นไม้ แต่มาวันนี้ แม่ฉันอยากได้ดอกสะเดาลวกไปถวายพระและให้ญาติโยมที่มาวัดทานกันให้อร่อย ตามประสาคนวัยสูงอายุ ว่าไปนั้น! แม่ร้องขอให้ฉันไปเรียกเด็กชายที่รู้จักให้มาช่วยปีนต้นสะเดาเพื่อเอาดอกสะเดาลงมาตามวัตถุประสงค์ แต่เนื่องด้วยความขี้เกียจของตัวฉันเองที่จะไปเรียกเด็กชายพร้อมกับบ้านที่อยู่ห่างไกลกันเป็นกิโลแม้ว ฉันเลยสวมความจำเป็นปลอมตัวเป็น “นายลิง” ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้เสีย โอ้!! ฉันเริ่มคลางในใจ ต้นก็ไม่สูงเท่าไหร่เมื่อเทียบอายุต้นสะเดา...อ่อนกว่าฉัน 20 ปี เอง ฮ่า! ฮ่า! ฮ่า! ฉันใช้พลังแขนคว้ากิ่งที่แข็งแรงแล้วดันตัวเองปีนป่ายขึ้นไปบนต้นจนสำเร็จระยะเวลาร่วม 10 นาที จากระยะทางพื้นดินมุ่งสู่กลางลำต้น จิ๊บๆ 8 เมตร กว่าๆ ฉันหอบ หัวใจสั่น เหงื่อแตกพลั่ก ทั้งฝ่ามือและฝ่าเท้า ฉันไม่ได้ร้อน อากาศรอบข้างมีลมโชยของยามหนาวในตอนเย็นย่ำ แรงของลมปะทะมาอย่างเอื่อยๆ แต่ฉันกอดต้นสะเดาไว้แน่น เพราะกลัวจะร่วงลงสู่พื้น ฉันเริ่มปฏิบัติการ “นายลิง” โดยค่อยๆ ใช้แขนที่เหลือคว้ากิ่งที่มีดอกสะเดาเป็นพุ่มหักให้ร่วงลงไปยังพื้นที่มีแม่รอเก็บ ฉันเด็ดก้านดอกสะเดา แล้วก็ เด็ด! เด็ด! เด็ด! จนมืออันสั้นได้มาตรฐานของฉันมีรัศมีที่เอื้อมไม่ถึงก้านดอกสะเดาอีกต่อไปแล้ว ฉันจึงร้องถามแม่ว่า “พอรึยัง...แม่”-“ยัง” นั้นคือคำตอบของแม่ แม่ส่งไม้สอยแถมท้าย ฉันใช้ความสามารถที่เหลือคว้าไม้สอยอีกแขนยังโอบกอดต้นไว้แน่น พร้อมใช้พลกำลังของอีกแขนจับไม้ สอยก้านดอกสะเดาที่อยู่ห่างตัวฉันออกไปหลายช่วงตัว สอยไป! สอยไป! สอยไป! ดอกสะเดาร่วงหล่น ร่วงหล่น ภาพที่สวยงามยามเย็นที่น่าประทับใจที่สุด แม่ก้มเก็บก้านดอกสะเดาอยู่ด้านล่างนั้น! ผมของแม่เต็มไปด้วยดอกสะเดาดอกเล็กเล็ก สีขาวขาว กระจายอยู่เต็มผม แม่เราสวยจัง ! ฉันร้องถามแม่อีกครั้ง “พอรึยัง...แม่”-“ยัง” ยังเป็นคำตอบของแม่อยู่ ฉันสอยจนหมดความสามารถ“นายลิง” เหนื่อยหอบเหมือนวิ่ง 1,000 เมตร ขาสั่นเหมือนใจจะขาด แล้วมีเสียงสวรรค์ของแม่ร้องว่า “พอแล้ว...เยอะแล้ว” สมองของฉันเริ่มประมวลวิชาฟิสิกส์เพื่อที่จะนำมวลสารขนาดใหญ่ลงสู่พื้น...ได้คำตอบ...ฉันปีนป่ายด้วยพลังมหาศาลพร้อมกับพรสวรรค์ในการไต่เหมือนมดแดงฉันก็ถึงพื้นดินจนสำเร็จ หัวใจยังเต้นระส่ำเหมือนเดิม ขาอ่อน เข่าอ่อน ชาไปหมดทั้งร่าง รวบรวมสติได้ ไปเก็บก้านดอกสะเดาที่หล่นกระจัดกระจายรวบรวมให้แม่จนหมด แล้วแม่ก็เด็ดส่วนของใบทิ้งเก็บแต่ส่วนของก้านดอก (แม่บอกว่ามันอร่อย) ไปลวก ฉันจึงกลับมายืนแหงนดูต้นสะเดาอีกครั้ง ฉันขึ้นไปได้ไง! แต่มีคำตอบอยู่ข้างๆ กาย ก็ “แม่” ไง! แม่บอกไว้เป็นลาง “เอาไว้คราวหน้าค่อยขึ้นไปเอาอีก” ฉันได้แต่ยิ้มแบบ “นายลิง” อยู่ในใจ สะเดา! สะเดา! สะเดา! มาเรียนรู้ประโยชน์ของสะเดากันดีกว่า...
สะเดามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica Juss. Var. siamensis Valeton
จัดอยู่ในพืชวงศ์ MELIACAAE
มีชื่อสามัญรู้จักกันในนาม Neem Tree
มีชื่อทางภาษาอังกฤษว่า Indian Lilac, Margosa
มีชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือ (ประเทศไทย) สะเลียม
ภาคอีสาน (ประเทศไทย) กะเดา, กาเดา
ภาคใต้ (ประเทศไทย) กะเดา, ไม้เดา, เดา
ประเทศอินเดียเรียกขานตามภาษาฮินดีว่า Nim, Nimb
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูง 12-15 เมตร ขึ้นได้ในป่าหรือปลูกไว้ตามบ้าน ทุกส่วนมีรสขม เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกของลำต้นสีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ แตกระแหงเป็นร่องเล็กๆ ตามต้นแต่เปลือกของกิ่งอ่อนเรียบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเวียนเป็นเกลียวตรงปลายกิ่ง ใบย่อยรูปหอก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยปลายมนบ้างแหลมบ้าง ใบอ่อนรสขมเล็กน้อย ตอนปลายกิ่งผลิใบใหม่พร้อมกับผลิดอกในฤดูหนาว ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและตรงปลายกิ่ง ดอกสีขาว ดอกตูมรูปร่างกลม สีเขียวอ่อน หรือขาวอมเขียว ผล กลมรี หรือกลมยาวเล็กน้อย อวบน้ำ ผลแก่สีเหลือง ภายในผลมี 1 เมล็ด ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอกอ่อนนำมาลวกรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือน้ำปลาหวาน หรือรับประทานสด การปลูก สะเดาเป็นไม้ดั้งเดิมของเขตเอเชียอาคเนย์ พบทั่วไปในประเทศ พม่า อินเดีย สะเดาพบในป่าเบญจพรรณและป่าแดง มักขึ้นปะปนกับไม้ใหญ่ สะเดาเป็นพันธุ์ไม้ปลูกง่ายโตเร็ว และเป็นพันธุ์บุกเบิกในที่แห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง
สรรพคุณยา ใบอ่อน แก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองไม่ดี และแผลพุพอง
ใบแก่ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และฆ่าแมลงศัตรูพืช
ก้าน แก้ไข้ บำรุงน้ำดี และแก้ร้อนในกระหายน้ำ
ดอก แก้พิษโลหิต พิษกำเดา แก้ริดสีดวง คันในลำคอและ บำรุงธาตุ
ลูก บำรุงหัวใจให้เต้นเป็นปกติ และฆ่าแมลงศัตรูพืช
สำหรับชาวอินเดีย พบเห็นการใช้สะเดาโดยทั่วไปเป็น “ยาสีฟันประจำบ้าน” ซึ่งเราจะเห็นก้านสะเดาถูกตัดขนาดพอประมาณวางขายทั่วบริเวณถนนในยามเช้า บริษัทเวชภัณฑ์ยาของอินเดียเช่น Good Care และ Himalaya นำสะเดามาสกัดเป็นยาบำรุงร่างกาย และส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่เหลวล้างหน้า ครีมพอกหน้า สบู่เหลวล้างมือ สรรพคุณของยาเม็ดสะเดาสกัดบำรุงร่างกาย เช่น บำรุงเลือดทำให้ผิวพรรณสวยงาม ป้องกันการเกิดสิว บำรุงระบบภูมิคุ้มกัน ต้านทานไวรัส ทำลายหนอนพยาธิในลำไส้ เป็นต้น
ประโยชน์สะเดามีมากมาย ขึ้นกับเราเองว่าจะเลือกนำส่วนไหนของต้นสะเดาหรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปออกมาวางจำหน่ายของสะดามาใช้ เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของตัวเราเอง
เด็กน้อย Botany วท.บ.,วท.ม.(มช.)

Comments :

0 ความคิดเห็น to “สะเดา”

แสดงความคิดเห็น

 

ผู้ติดตาม

ออนไลน์หน้านี้

free counters