.

.
"สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข"
ข่าวประชาสัมพันธ์



ขอประกาศเลิกอัฟเดทข้อมูลที่Blogแห่งนี้
สามารถเข้าไปใช้งาน website อย่างเป็นทางการได้ที่
http://www.tsa-bhu.org/


ข่าวเด่น

* ขอแสดงความยินดีแด่.. พระครูใบฎีกา ดร. มานิตย์ เขมคุตโต , พระมหา ดร. ธีรชัย ปุญฺญชีโว , พระ ดร. ราเชนทร์ วิสารโท ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ B.H.U. ในปี ๒๕๕๓






* สมาคมพระนักศึกษาไทย มหาววิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันลงอุโบสถ ที่วัดไทยสารนาถ พร้อมเจริญพระพุทธมนต์ ณ ธัมเมกขสถูป เนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์





สมาคมพระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสีได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ "๑๓ เมษา เสนคุปต้ามหาสงกรานต์" ประจำปี ๒๕๕๓ ณ หอเสนฯ โดยมีคณาจารย์ทางมหาลัย และต่างชาติเข้าร่วมนับร้อยชีวิต ในวันที่ ๑๓ เมษายน ที่ผ่านมา





* พระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันจัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ (๕ ธันวามหาราช) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล





* ๕ ธันวามหาราช ขอเชิญร่วมถวายภัตตาหารเพลพระนักศึกษาไทย และนานาชาติ จำนวน ๘๒ รูป และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรได้ที่ หอเสนคุปตลอล์จ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒





* กฐินสังฆประชาสามัคคี ณ หอเสนคุปตาลอจ์ด มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นำโดย พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


พระเจ้าอโศกเคยเห็น “พระพุทธเจ้า”

                  หากถามว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ? คำตอบที่ได้CIMG0171 รับเกือบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคย” เหตุผลก็คือ “เป็นไปไม่ได้ เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชมีชีวิตอยู่หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานกว่าสองร้อยปี” นี่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีเหตุผล ทุกคนยอมรับ หากเมื่อลองมองดูคัมภีร์ทางศาสนาก็จะพบคำตอบของคำถามได้เช่นเดียวกัน

                พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อได้สร้างพระเจดีย์ครบแปดหมื่นสี่พันองค์เสร็จแล้ว และได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ทุก ๆ เจดีย์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงดำริจะจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เพื่อประกาศให้ชาวโลกได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธศาสนา แต่พระองค์ทรงมีความปริวิตกถึงเหตุร้ายภัยพิบัติอันจะทำลายงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ จึงเสด็จไปสู่หมู่ภิกษุสงฆ์กราบอาราธนาภิกษุผู้มีความสามารถจะปัดป้องกันภัยได้ ในที่สุดในท่ามกลางสงฆ์ได้เลือกพระอุปคุตผู้ทรงอภิญญา ๖ และมีฤทธิ์มากทำหน้าที่ป้องกันภัยพิบัติในครั้งนี้

                 เมื่อวันงานจริง ๆ เหตุก็เป็นดังที่คาดการณ์ไว้คือ พญามารวัสสวดี ซึ่งเป็นพญามารตนเดียวกันกับที่เคยเข้าทำลายพระพุทธองค์เมื่อครั้งจะตรัสรู้ พญามารได้ขัดขวางทำลายพิธีครั้งนี้ทุกวิถีทางที่ตนจะกระทำได้ เป็นต้นว่า นิรมิตมหันตพายุ บันดาลห่าฝนพายุกรด ห่าฝนก้อนศิลา ห่าฝนถ่านเพลิง ฝนน้ำกรด เป็นต้น พระอุปคุตก็ป้องกันได้ทุกครั้งไป

พญามารโกรธยิ่งนัก แปลงกายเป็นรูปต่าง ๆ ต่อสู้กับพระเถระ เช่น เนรมิตกายเป็นรูปโคใหญ่ เป็นพญานาคมี ๗ เศียร เป็นยักษ์ใหญ่ถือกระบองน่าสะพรึงกลัว แต่ทุกครั้งไม่ว่าพญามารจะเป็นอะไร พระเถระก็จำแลงกายเป็นอย่างนั้นให้ใหญ่กว่าถึงสองเท่า จนพญามารพ่ายแพ้และถูกจับมัดไว้ จนกว่าจะทำการฉลองสมโภชสำเร็จเสร็จสิ้น ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พญามารถูกจับมัดจองจำได้รับทุกข์ทรมานซึ่งไม่เคยมีใครกระทำอย่างนี้กับตนมาก่อน จึงนึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ว่า

                “โอ .. ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ต้นมหาโพธิพฤกษ์ เราเข้าทำลาย241840 ประหัตประหารพระองค์ด้วยจักรราวุธอันคมกล้า อันสามารถจะทำลายทุกอย่างได้ พระพุทธองค์กลับใช้สมติงสบารมีญาณ และจักรนั้นกลับกลายเป็นดอกไม้โปรยปรายทั่วทิศ แม้มารบริวารของเราก็ขว้างไปซึ่งอาวุธต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นบุปผชาติลงสู่พื้นพสุธา เรากระทำภยันตรายนานัปการ แต่พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงกระทำโทษโกรธตอบแก่เรา แม้นว่าสักนิดหน่อยหนึ่งก็มิได้มี แต่กาลบัดนี้สาวกของพระพุทธองค์ ทำไมถึงไม่มีความกรุณาปรานี กระทำเราให้ได้รับทุกข์ทรมานถึงเพียงนี้”

               ในที่สุดพญามารได้รำลึกถึงขันติคุณและมหากรุณาธิคุณแห่งพระพุทธองค์ จึงได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ ซึ่งสมดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสทำนายไว้ว่า “พญามารจะปรารถนาพุทธภูมิ และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลภายหน้า” ลำดับนั้น ก่อนจะปล่อยพญามารไป จึงอยากให้พญามารกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน ในที่สุดจึงตกลงให้พญามารเนรมิตรูปกายพระศาสดาให้ดู เพราะชนที่เกิดมาภายหลังมิเคยได้เห็นเลย อีกประการหนึ่งพญามารก็ได้เคยเห็นพระรูปของพระพุทธองค์มาแล้ว พญามารรับปากว่าจะกระทำตามนั้น แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อเนรมิตรูปกายพระพุทธองค์แล้วอย่าถวายอภิวาทเป็นอันขาด เพราะนั้นมิใช่พระองค์จริง ๆ

             จากนั้นพญามารจึงเนรมิตเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมฉัพพรรณสังสีให้งดงามยิ่งนัก พร้อมทั้งมีพระอัครสาวกสถิต ณ เบื้องซ้ายขวา แล้วแวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ สิ่งนี้ยังความปีติยินดีให้แก่พระอุปคุตเถระและพระเจ้าอโศกมหาราช พร้อมทั้งข้าราชบริพารประชาชนทั้งหลายในขณะนั้นยิ่งนัก เพราะไม่นึกว่าสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะพบก็ได้พบ ไม่คิดว่าสิ่งที่อยากได้เห็นก็ได้เห็น เป็นความเอิบอิ่มใจอย่างล้นหลาม ช่างเป็นบุญเสียเหลือเกินยากแท้จะพรรณนาได้ บุคคลอื่นใด ไหนเล่าจะมีโอกาสดีอย่างพวกเรา ซึ่งทุกคนในที่นั้นต่างก็คิดเป็นอย่างเดียวกัน และโดยมิได้นัดหมายคนทั้งหมดก็ยกมือขึ้นวันทาพระพุทธองค์ทันที ด้วยความเคารพศรัทธาเป็นล้นพ้น บางคนถึงกับขนลุกชูชันบ้างก็ถึงกับน้ำตาไหลนองหน้าด้วยความตื่นเต้น

             ทันใดนั้นเอง พระพุทธองค์พร้อมด้วยมหาสาวกก็อันตรธานหายวับไปกับตา กลับกลายเป็นร่างพญามารวัสสวดีตามเดิม ทำให้ทุกคนเสียดายยิ่งนัก เพราะมีโอกาสเห็นพระองค์เพียงครู่เดียว พญามารจึงต่อว่าทันทีว่า “ทำไมพวกท่านจึงไหว้เรา ทั้งที่ได้กระทำ สัญญาไว้แล้ว ซึ่งเรามิอาจแสดงได้อีกแล้ว”

            ฝ่ายพระอุปคุตเถระและพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวตอบพญามารไปว่า “ดูก่อนพญามาร เรามิได้ยกมือไหว้ท่านเลย เราไหว้พระสรีรูปพระพุทธองค์ด้วยจิตเลื่อมใสต่างหาก สิ่งนี้เกิดจากศรัทธาของเราเอง แม้ว่าจะเป็นการเนรมิตของท่าน เราก็ยังนับว่าเป็นพระพุทธองค์อย่างแท้จริงท่านทำหน้าที่ของท่านสมบูรณ์แล้ว จากนี้ไปท่านจงเป็นอิสระ” พญามารวัสสวดี ก็กราบลากลับสู่ที่สถิตสถานของตน ซึ่งก็คือปรนิมมิตวัสสวดีเทวโลก

เรื่องราวดังกล่าวมานี้ หากประสงค์จะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมโดยพิสดาร สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา และวิมุติรัตนมาลี

>

>

>

>ข้อมูลจาก : สิทธารถสาร ฉบับปีที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ “พุทธชยันตี”

สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนากับธนบัตรอินเดีย

                  IndianRupeeR ประเทศอินเดียเป็นดินแดนเกิดของศาสนาและลัทธิที่มีความสำคัญหลายลัทธิ ศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวอินเดียแล้วก็ตาม แต่ทว่าชาวอินเดียก็ยังนับถือพระพุทธศาสนาในทางอ้อม (แบบไม่รู้ตัว) เพราะตราประจำชาติของอินเดียคือสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา นั่นคือเสาหัวสิงห์สี่หัว ของพระเจ้าอโศกมหาราชจอมราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้สร้างเอาไว้ แต่ครั้นกาลเวลาผ่านไป ก็ได้ถูกคุกคามโดยศาสนาต่าง ๆ เข้ามาทำลายแทบจะไม่มีเหลือหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเคยมีพระพุทธศาสนาเลย แม้แต่มหาวิทยาลัยแห่งแรกของพระพุทธศาสนาก็ยังมิวายโดนทำลายด้วย นั่นคือมหาวิทยาลัยนาลันทา ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีหลักฐานเอกสารการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนามากมายหลายอย่าง อาทิเช่น พระไตรปิฎก ตราสัญลักษณ์ เครื่องบูชา พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เป็นต้น แม้แต่กระนั้นเหล่าสงฆ์ที่ทำการศึกษาอยู่ที่นั่นจำนวนเป็นหมื่น ๆ ก็ยังโดนฆ่าเหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับสิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้จะมิโดนทำลาย ปัจจุบันยังคงเหลือแต่รอยความทรงจำ ซากปรักหักพัง (ก้อนอิฐ หิน ทราย) และรอยความเจ็บช้ำที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ศาสนา ที่ถูกบันทึกไว้โดยสมณะเฮี้ยนจัง หรือ (จดหมายเหตุของพระถังซำจั๋ง) และผู้ขุดค้นเป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม

                   จะอย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องราวที่ผ่านมาจากอดีต ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะถูกทำลายลงอย่างไร้ร่องรอยแห่งความสมบูรณ์แบบ แต่เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้สร้างไว้เพื่อบูชาคุณของพระพุทธศาสนา จำนวน 84000 ต้น ก็ยังคงเหลือความสมบูรณ์แบบไว้ให้ชาวพุทธ นักโบราณคดี ผู้ที่สนใจทั่วไปได้คอยดื่มด่ำถึงความวิจิตรพิสดาร ความประณีต ความละเอียด และความสวยงามของหัวเสาของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ได้ทรงพระปณิธานสร้างถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ถึงแม้ว่าจะหลืออยู่เพียงไม่กี่ต้นก็ตาม แต่ต้นที่เหลือก็สมบูรณ์แบบที่สุด

                   huasingha ปัจจุบันหัวเสารูปสิงห์สี่หัวก็ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดียซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับธัมเมกขสถูป ซึ่งเป็นสถานที่แสดงธรรมครั้งแรก และอยู่ใกล้กับป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน (สวนกวาง) และเป็นสถานที่เกิดพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาด้วย โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษแปลกใจตรงที่ถึงแม้ว่าต้นเสาจะถูกทำลาย โดยหักเป็นท่อน ๆ แต่หัวสิงห์ที่อยู่บนยอดเสากลับไม่ถูกทำลายโดยแม้แต่น้อย นั่นหมายถึงอำนาจความศรัทธาที่มั่นคงแน่วแน่ของพระเจ้าอโศกมหาราช และด้วยอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักอารักขาอยู่ที่นั่นด้วยกระมัง จึงทำให้สัญลักษณ์ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนคำสอนของพระบรมศาสดา ไม่ถูกทำลายลงด้วยอำนาจความอิจฉาริษยาของคนใจชั่วเหล่านั้น ทางรัฐบาลอินเดียจึงได้นำเอาหัวสิงห์สี่หัวนี้เป็นสัญลักษณ์ตราแผ่นดินคงเป็นเพราะทึ่งใจความพิสดารของช่างในยุคนั้นเป็นแน่ ที่สำคัญไปกว่านั้นธนบัตรของอินเดียทุกฉบับยังคงใช้ตราหัวสิงห์เป็นสัญลักษณ์อีกด้วย (ในเหรียญ 5 รูปียังคงใช้ตราธรรมจักร) จึงถือได้ว่าชาวอินเดียถึงแม้จะไม่นับถือพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่ก็ยังยอมรับสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาโดยทางอ้อม และยังบูชาทุกครั้งที่ได้ธนบัตรมา โดยการนำเอาธนบัตรแตะตรงหน้าผากของตนเอง นั่นหมายถึงการบูชาโดยทางอ้อมนั่นเอง แล้วเราในฐานะที่เป็นชาวพุทธโดยตรง จะไม่ยอมรับและนับถือก็กระไรอยู่ พร้อมนำความหมายที่อยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้นมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตรใจ โดยการนำคำสอนของพระพุทธองค์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ธัมมจักรมีอยู่ 12 ซี่บ้าง 8 ซี่บ้าง นั่นหมายถึง ปฎิจจสมุปบาท (Dependent Origination) อริยมรรค 8 ประการ (Eight Fold Paths) เป็นต้น แต่ตราธัมมจักรในธนบัตรของอินเดียมีจำนวน 28 ซี่ นั้นหมายถึงการทำกิจวัตรประจำวันที่มีอยู่ทั้งวันทั้งคืน ก็คือทำกิจในเต็ม 24 ชั่วโมง แม้แต่ในภควัทคีตา ก็กล่าวไว้โดยให้ทุกคนนั้นสำนึกในหน้าที่ของวรรณะของตน เป็นต้น

              ถึงเวลาแล้วที่เราชาวพุทธจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศานา พร้อมทั้งนำหลักคำสอนที่มีคุณค่ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดมีกับตนเองตลอดทั้งครอบครัว และสังคม คนไทยเรายังมีแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดีให้เราน้อมนำมาเป็นแบบอย่างได้ นั้นคือพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวของชาติไทยทุก ๆ องค์ โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลปัจจุบัน พระองค์เป็นพุทธมามกะ และเป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์แบบได้เป็นอย่างดี ธรรมที่ใช้ปกครองประชาราษฎร์ ก็คือทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นธรรมของราชา แม้แต่พระเจ้าอโศกมหาราชก็ยึดทศพิธราชธรรมนี้แหละเป็นเครื่องปกครองพสกนิกรของพระองค์ ทำให้เกิดความผาสุก ร่มเย็น ตลอดเสมอมา พระมหากษัตริย์ไทยทุก ๆ พระองค์ทรงเป็นศาสนูปถัมภกต่อสถาบันพระพุทธศาสนาโดยทุกรัชกาล

               ในฐานะที่เราเป็นพสกนิกรของพระองค์ ควรนำปณิธานของท่านมาเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว หน้าที่การงาน ตลอดทั้งประเทศชาติ จะได้มีความสงบสุขร่มเย็นตลอดชั่วกาลนาน จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบกับมหาราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรม เราอยู่ในดินแดนแห่งความสุขแล้ว ไยไม่นำความสุขเหล่านั้นมาอยู่กับตนเองเล่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” “เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก”

            เชิญเถิดเหล่าพุทธศาสนิกชนทุกท่านอย่าให้เขาดูถูกชาติไทยว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” เลย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งทำความดี เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และตนเองเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเทอญ

Source : สิทธราถสาร ฉบับ ธรรมจักขจร ฉบับที่ 10 ปี 2549

หนึ่งในตำนานคงคา

หนึ่งในตำนานคงคา

มีตำนานมากมายที่ได้กล่าวถึงการกำเนิดของแม่น้ำคงคา หนังสือจำนวนมาก ซึ่งสามารถหาได้จากวัดหรือเมืองต่าง ๆโดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำคงคา บรรยายสรรเสริญอำนาจที่สามารถชำระล้างบาปและสิ่งไม่ดีทั้งหมดของผู้ได้ชำระ ร่างกาย ตำนานของแม่น้ำคงคานั้นมีมากมายและเรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเสียง มากและได้รับการเล่าสืบต่อกันอย่างกว้างขวาง.....
กษัตริย์ในสมัยโบราณพระองค์หนึ่งนามว่าสาคร(Sagar)ครั้งหนึ่งได้ปกครอง อินเดียทรงมีโอรสถึงหกหมื่นพระองค์วันหนึ่งในขณะที่กำลังเสาะหาม้ามงคล โอรสเหล่านั้นได้ไปรบกวนการทำสมาธิของฤๅษีตนหนึ่งเป็นเหตุให้ฤๅษีโกรธมากและ ได้เผาโอรสทั้งหกหมื่นจนเป็นขี้เถ้าด้วยอำนาจที่เกิดจากการทำสมาธิ วิญญาณของโอรสทั้งหกหมื่นได้ถูกกีดกันที่จะสัมผัสน้ำบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะปลดปล่อยโอรสเหล่านั้นไปสู่สุขติได้ดังนั้นวิญญาณของโอรสเหล่านั้นจึงไปรบกวนพระเจ้าสาคร (King Sagar) เมื่อพระเจ้า
gangamaสาครสิ้นพระชนม์เหล่าวิญญาณของโอรสได้ไปรบกวนพระ นัดดา(หลาน)ผู้เป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าสาครนามว่า ภังคีรถ (Bagiratha) ด้วยความปรารถนาที่จะช่วยปลดปล่อยเหล่าวิญญาณจากความทุกข์และเพื่อความสงบสุขของพระองค์เองพระเจ้าภังคีรถ(Bagiratha)ได้สละพระราชสมบัติและสวดอ้อนวอนต่อพระแม่คงคา (Mother Ganga)ในขณะนั้นเป็นผู้หลั่งน้ำเฉพาะบนสวรรค์เพื่อความสำราญของเหล่าเทวดาทั้งหลาย ให้หลั่งน้ำลงมาที่โลกมนุษย์บ้าง พระองค์จึงได้ทำสมาธิที่เขาหิมาลัย (Himalayas) เป็นเวลานาน จนกระทั่งชนะใจของพระแม่คงคา (the river goddess)พระแม่คงคาได้ปรากฏต่อหน้าพระองค์เพื่อเป็นรางวัลต่อการอุทิศตน บำเพ็ญสมาธิและได้เมตตายินยอมที่จะหลั่งน้ำลงสู่โลกมนุษย์ ท้าวศิวะ (Lord Shiva) ทรงเห็นด้วยและยกเอาสายน้ำนั้นไว้บนศีรษะของพระองค์ ด้วยวิธีนี้สามารถลดความรุนแรงของสายน้ำลงได้มิฉะนั้นแล้วโลกมนุษย์จะถูกทำลายด้วยสายน้ำนั้น
สายน้ำนั้นได้ไหลผ่านปอยเกศา(ปอยผม)ของท้าวศิวะสู่โลกมนุษย์และสัมผัสขี้ เถ้าของเหล่าโอรสทั้งหกหมื่นและปลดปล่อยโอรสเหล่านั้นไปสู่สุขติ จากนั้นสายน้ำได้ไหลอย่างรวดเร็วผ่านภูเขาต่างๆ จนอ่อนกำลังลง และได้ไหลไปสู่พื้นที่ราบนามว่า หริญทวาร (Haridwar) และกลายเป็นมหาสมุทรและด้วยอำนาจแห่งการทำลายและปลดปล่อยของสายน้ำ แม่น้ำในปัจจุบันนี้จึงเป็นแหล่งชำระล้างที่ทรงพลังของชาวฮินดูหลายล้านที่ เดินทางมาแต่ละปีเพื่อที่จะชำระร่างกายของตนและเพื่อเผาศพผู้ตาย....


ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ

Translated from:http://faculty.maryvillecollege.edu/pennington/yatra/gangotri2.htm

ปริญญาสาขาพ้นทุกข์

ปิ่นวารี

 

           เมื่อมีโอกาสได้เดินทางออกจากต่างจังหวัดเพื่อหาความรู้มาประดับสติ10593511 ปัญญา มีคนบอกว่าขอให้เราก้าวออกจากที่เดิมเพียงหนึ่งก้าว ท่านก็จะได้ความรู้เต็มตะกร้าแล้ว....ก็เห็นท่าจะจริงอย่างที่เขาว่ากัน........

พอวันจะเดินทางจริงทั้งความกลัว ความกล้า ความอาย ความมึนมาโหมกันใหญ่กว่าจะก้าวเท้าออกจากที่พักได้ก็ปลอบใจตัวเองอยู่เสียนาน สุดท้ายก็ไปจนได้ นี่แหละนะที่เขาว่า บางอย่างก็ไม่อาจจะหาซื้อได้ด้วยเงิน..แต่ต้องเอาตัวตนของตนเองเป็นเส้นทางผ่านเพื่อแลกเอาประสบการณ์ก่อนที่คนอื่นจะมาถอนเส้นผมหอกก่อนที่จะชรา หากใครมีเวลาก็อย่านิ่งดูดายรีบไปหาดูวัวควายและธรรมชาติก่อนที่จะไม่ได้เห็น เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสังคมเมืองกำลังเข้าไปอยู่ทุกจุดของโลกแล้ว จนเราจะเห็นความไม่แตกต่างบนพื้นโลก.....

           แม้แต่ประเทศอินเดียที่สามารถไปกิน “กะลัมจ๋าย”(ชาร้อนใส่นม) อร่อย ๆ ได้ที่อยู่เทือกเขาหิมาลัยต้นกำเนิดแม่น้ำคงคา ซึ่งใคร ๆ ที่ได้ไปก็จะมีคำตอบของคำถามที่ว่า แม่น้ำคงคาไหลมาจากสรวงสวรรค์จริงหรือ หรือแม่น้ำศักสิทธิ์จริงไหม ผมแน่ใจว่า คุณจะได้คำตอบหลาย ๆ คำทีเดียว แต่ต้องแลกกับการก้าวท้าวของท่านออกจากที่ ๆท่านอยู่ จะไม่ต่างกับผู้เขียนขณะเดี๋ยวนี้ที่ก้าวเท้ามาถึงหมอชิตแล้ว ก็ได้คำถามขึ้นมาอีกว่า ทำไมต้องเป็นหมอชิต หมอชื่ออื่นไม่ได้หรือ

สังคมวันนี้ทุกหัวระแหงกำลังถูกมนุษย์ปฏิวัติให้ครอบครัวกลายเป็นบริษัท ที่ทุกคนที่เกิดมาก็มีค่าหัวและค่าตัวแล้ว ท่านที่เกิดมาตั้งแต่บัดนี้ก็จะเจอสมบัติเงินทองเก็บไว้ใช้จ่ายทุกอย่างแม้แต่ทรัพยากรมนุษย์ก็ถูกตีค่าหรือกำหนดราคาไว้แล้ว

            ล้อเกวียน คันไถ ไม้ทำคอกวัว ควาย ท่านจะไม่ค่อยได้เห็นในต่างจังหวัดหรอก แต่จะได้เห็นตามบ้านคนรวยหรือบ้านจัดสรรในเมืองหลวงซึ่งทำเป็นของแต่งบ้าน เจ้าทุยในท้องนาจึงขาดเพื่อนที่จะต้องลากไถนาแต่ก่อนเราเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งธรรมดา แต่เดี๋ยวนี้มีค่ามีราคาซึ่งรวมถึงดินและน้ำอันเป็นปัจจัยชีวิตที่ไม่ต้องซื้อหา การหมุนเวียนจึงถูกตีค่าด้วยสิ่งแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า “เงิน” ซึ่งแต่เดิมก็เป็นแค่กระดาษธรรมดา นำมาสมมุติตีค่า ทำให้ความดิ้นรนของคนเราจึงมีมากขึ้น ความไม่สบายที่เป็นความทุกข์ก็มีมากขึ้น คนที่ทำนาก็ลดน้อยลง เพื่อที่จะพยายามผลักดันครอบครัวและตัวเองให้อยู่ในความเป็นสังคมเมือง จากผืนนากลายเป็นโรงงาน เป็นบ้านจัดสรร เป็นห้างสรรพสินค้าที่โก้หรู เป็นห้าง ที่นำเอาสินค้ามากำหนดราคาตีค่าว่าสุดคุ้มค่าแต่ไปกดราคาจากผู้ผลิตและจัดหาวัตถุดิบและเป็นถนนให้รถวิ่งไปรับทรัพยากรทั้งหลายมาแลกเปลี่ยนกันง่ายขึ้น จนหลาย ๆ คนเป็นเศรษฐีเงินผ่อน เพื่อที่ได้ปัจจัยที่ห้ามาใช้ ทั้งรถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับ และเครื่องดื่ม ฯลฯ เอาเป็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ขาดไม่ได้เสียแล้ว ทำให้เราลืมสิ่งสำคัญจริง ๆ มีอะไรบ้าง ดูผิวเผินจะเห็นว่าคนไทยเราคนจนน้อยลง และหาเอาแว่นขยายมาขยายดูที่ใจใกล้ ๆ จะเห็นว่าคนไทยเป็นคนจนเกินครึ่งค่อนประเทศเพราะคนไทยมีหนี้สินที่เผื่อแผ่กันในทุก ๆ ที่ จนได้รับฉายาว่า “คนไทยใจเกินร้อย” เพราะทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงินดาวน์ เงินผ่อนแบบสบาย ๆ ตลอดชีวิตทำงาน และซื้อกันเกินเงินเดือนเกินรายได้ แล้วจะบอกว่าคนไทยร่ำรวยเจริญขึ้นจริงหรือ........

            เดินทางมาถึงอีสานใต้ เป็นจังหวัดที่มีตำนานว่า “ตำน้ำกิน” จะจริงหรือเท็จก็ตามเหตุผลที่สภาพภูมิจังหวัดที่บ่งบอกที่ส่วนหนึ่งติดทุ่งกุลาร้องไห้ ขนาดทุ่งกุลายังต้องไปร้องไห้ถึงโน่นเลยคิดดูว่าจะแล้งสุดระทมขนาดไหน แต่นั้นเป็นอดีตกาลไปแล้ว ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมม์เป็นจังหวัดที่หลาย ๆ จังหวัดต้องจับตามอง เพราะเป็นพื้นที่สีเขียวกับน้ำใส ภายใต้ฟ้าสีคราม และมีคนฝรั่งตาน้ำข้าว มาจากหลายประเทศเดินขวักไขว่กันทุกเมืองทุกหมู่บ้านก็ว่าได้

              อาจจะถือว่าเป็นมนต์ตราเสนห์ของอดีตแผ่นดินนี่ที่เป็นแผ่นดินขอมหลังภูเขาไฟระเบิด ภาพเทพี นารีฟ้าที่มีท่าร่ายรำ ดวงหน้าที่เด่นที่งดงามทำให้คนที่อยู่ไกลต่างมายังดินแดนที่มีมนต์ ที่สามารถมองเห็นธรรมชาติมีความเป็นอยู่สอดคล้องกับชีวิตคนในปัจจุบัน ประวัติที่ยาวนานสะท้อนให้เห็นความเป็นนครที่มีความศักสิทธิ์อย่างเขาพนมรุ้ง และใครที่ยังต้องการความสงบสุขของใจ มีให้เลือกสรร ระหว่างการเอาธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ที่เขียวขจี ดูสดชื่นมาเป็นเพื่อนยามเหนื่อยล้าเพราะมีอุทยาน และป่าชุมชนมากมาย และหากจะเลือกสรรมุมสงบทางปัญญาที่มีป่าและธรรมชาติโอบล้อม ดินแดนแห่งนี้มีให้มากมาย มีพระสายพระป่าที่ดำรงการปฏิบัติธรรมที่น่าเลื่อมใสหลายรูป และมักสอนให้คนในสังคมอยู่อย่างไม่ประมาทในกิเลสที่เดินได้ ยั่วยุอยู่ทุกวัน ท่านมักสอนให้มองเห็นจุดยืนของตนเองที่มีความเป็นอิสระในตัว ที่ใครที่ได้รับฟังจะต้องมองดูตัวเองว่าปริญญาที่ร่ำเรียนมาเป็นสิ่งน้อยนิด ครั้งนี้ผู้เขียนได้เจอพระหลวงตาสายปฏิบัติโยนกุญแจชีวิตให้

“ท่านมหาอย่าลืมนะ จบปริญญาตรี โท เอก หรือด๊อกเตอร์ก็ยังมีกิเลสอยู่”

            จบอย่างนี้ก็ยังอยู่ในสังสารวัฏอยู่นะ แต่มาเรียนสายของพระพุทธเจ้าน่ะจบทั้งโลกเลย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเอาอย่างไหน ชอบกำหรือชอบแบมือ เรียนก็เรียนได้อยู่ แต่ก็อย่าเอากิเลสมาเป็นสรณะ ไม่งั้นความหลงในวัฏสงสารคงจะต่อไปเรื่อย ๆ ความอยากถ้าอยากไม่ถูกก็เป็นทุกข์เป็นภัย ถ้าอยากถูกทางก็เป็นสุขเป็นที่พึ่ง ให้ปัดฝุ่นกิเลสออกจากในทุกวัน ภพชาติจะได้น้อยลง เรามาห่มผ้าเหลือกปฏิบัติเอาละเอาวาง เอาธรรมมารักษาใจให้ใสสะอาด ไม่ใช่มานุ่งผ้ามาปฏิบัติเอากิเลสเข้าตัวเอง สะสมแต่อัตตาเข้าตัวเสียชื่อเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าหมด...ครับเมื่อเจอธรรมะกลางป่า กิเลสทั้งหมายแหล่ไม่มีหลบซ่อนเลย เจอธรรมะมาปฏิวัติวันแรกก็ทำให้รู้สึกเย็นใจ เหมือนถูกลมพัดเอาฝุ่นกิเลสออก เลยอยู่ปฏิวัติกับกิเลสอยู่เดือนกว่า ๆ กลับเข้ามากรุงเทพฯ ทุกคนมองและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช่ไปอยู่ต่างจังหวัดหรือเปล่า เห็นว่าไปบุรีรัมย์ ทำไมดูขาวขึ้น ผิวผ่องขึ้นเลย ผู้เขียนได้แต่ยิ้ม ๆ ได้แต่คิดในใจ..ไม่ได้ขาวได้ไงก็กิเลสถูกถลกหนัง ทั้งขูด ทั้งเฆี่ยนตีทุกวัน...น่าศึกษา น่าปฏิบัติ ปริญญาสายพระพุทธเจ้ายังมีหลายแห่งทั่วเมืองไทย เว้นไว้ว่าจะมีใครก้าวเท้าไปคารวะผู้ที่เรียนว่าพระอาจารย์ ที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำ บุญมาวาสนาส่งก็จะได้ไปเจออาจารย์ของตนเองที่ตามมาพร่ำสอนศิษย์ที่ยังเดินทางอ้อมอยู่ เพียงอย่าเดินเลยเถิดไปจนงัดตนเองไม่ขึ้น เดี๋ยวนี้กิเลสเดินได้ และสร้างตัวเองอยู่ในความสะดวกสบาย และอยู่ในวัตถุนิยมที่ทำให้ความหลงบดบังสายตา และเข้ามาประชิดตัวเราอยู่ทุกเมื่อ

“มีสิตรู้เท่าทัน” คือคาถาป้องกันการเป็นปัญญานิ่ม ปัญญาเตลิดและหลวงตาท่านฝากใส่ย่ามพกติดตัวเสมอคือคาถา “อย่างส่งจิตออกนอก” หากทำได้ สมุนของกิเลสก็จะถูกตัดทอนเสบียงและดับไปในที่สุด ธรรมะเป็นสิ่งที่สุขุม นุ่มลึก ขมนอกหวานใน ต้องน้อมเข้ามาหาตัว หรือเอาตัวเข้าไปหาธรรมบ่อย ๆ จึงจะรู้รสพระธรรม นอกจะได้แบกบาตรแบกโน๊ตบุ๊คเข้าป่าก็ไม่เสียเที่ยว ได้ทั้งพระอาจารย์ที่ตามมาสอนก่อนที่อายุท่านจะดับ ได้เห็นปริญญาสายพระพุทธเจ้าที่ยังมีคนเดินมากมาย ไม่เว้นแต่พระเท่านั้น ญาติโยมทั้งหลายผู้เป็นทุกข์ สละทุกข์เดินนำหน้าก็มีเยอะเห็นต้นไม้พูดได้ต้นหนึ่งพูดว่า

“คนตาดี จูงคนตาบอด เดินไปไม่รอด คนตาบอดจูงคนตาดี”

            การเดินทางเที่ยวนี้ยังไม่จบอยู่เพียงแค่นี้ เพราะลมหายในยังพาก้าวย่างไปข้างหน้า แต่ก็ได้อะไรหลายอย่างจากทุกก้าวที่ถูกแรงกรรมเหวี่ยงไปตกในที่ไม่เคยไป คงไม่ต่างกับลูกไม้ที่ถูกลมพัดไปทุกทิศจนกว่าจะสิ้นสุดของจุดหมายปลายทางที่มีคำว่า “วาง” ที่บางทีก็ต้องหันมาศึกษาปริญญาในตัวตนของตัวเอง....ที่ทุกท่านไม่ควรลืมศึกษาในปริญญาสายพระพุธเจ้า....

Source : Siddharth Sarn Vol. 12 , 2008

Dowry ( ดาว – อะ – หริ )

      2371218554_fc57df403d  

           คำว่า Dowry ไม่ได้หมายถึง สินสอด หรือ สินสมรสเพราะความหมายเดิมเกิดจากตระกูลราชบุตรที่เป็นนักรบในเมืองราชสถานเมื่อรบชนะข้าศึกก็จะได้เครื่องบรรณาการต่าง ๆ พร้อมทั้งได้หญิงสาวจากเมืองขึ้นมาครอบครอง และปัจจุบันแต่ละครอบครัวต้องแบ่งสมบัติให้ลูก ๆ โดยเฉพาะลูกสาวที่จะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชายหลังจากแต่งงานแล้ว สมบัติก้อนนี้ถือเป็นหน้าตาของครอบครัวฝ่ายหญิง เพื่อที่ลูกสาวตนจะได้ไม่เป็นภาระของครอบครัวฝ่ายชายมากเกินไป ที่สำคัญคล้ายจะบอกลูกสาวตน “มิได้มาอาศัยฝ่ายชายฝ่ายเดียวนะ”

.       

        จากความหมายที่ดีนี้ Dowry คือสมบัติของฝ่ายหญิงที่ได้มาจากครอบครัวของตนเพื่อจะไปมีครอบครัว มิได้หมายถึง “ค่าตัวเพื่อชื้อฝ่ายชาย” แต่อย่างใดเลย….

.       

        อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันครอบครัวของชาวอินเดียบางครอบครัวของฝ่ายชายได้เรียกร้องค่า Dowry มากมายตามที่ตนอยากจะได้บ่อยครั้งที่ต้องทำให้ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องล่มจมเป็นหนี้ล้นพ้นตัวก็มี

.      

        Dowry โดยความหมายจาก สอ เสถบุตร แปลว่า “ทรัพย์สินของฝ่ายหญิง” นี้คือความหมายที่แท้และดั้งเดิม แต่ท่านหลายคนเข้าใจว่า “ค่าสินสอด” มาใช้ผิดความหมาย เพราะ ค่าสินสอด หมายความว่า “ฝ่ายชายต้องมอบให้ฝ่ายหญิง”……….

.

Source : Siddharth Sarn Vol.13,  2009.

ตุลสี (The Sacred Tulsi)

ตุลสีคืออะไร? มีความเป็นมาอย่างไร? และการบูชาต้นตุลสีมีความเชื่อกันอย่างไร?

นี่เป็นอีกข้อสงสัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามมากมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยี่ยมเยือนประเทศอินเดียเราสามารถพบเห็นต้นตุลสีได้ทั่วไปในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นตามศาสนสถาน ห้างร้าน บ้านเรือน ตลาดขายผัก แม้กระทั่งบนรถเมล์ ตุลสี เป็นภาษาฮินดี หมายถึง พืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นฉุน ลำต้นมีความสูงโดยประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร คนไทยเรารู้จักกันในนาม ต้นกระเพรา นั่นเอง เมื่อยึดเอาตามหลักความเชื่อเป็นเกณฑ์ในการแบ่งชนิดของต้นตุลสี ชาวฮินดูก็แบ่งออกเป็นสองชนิด คือ รามตุลสี (Rama Tulsi) มีใบ และลำต้นขนาดใหญ่สีเขียวอ่อน เพราะพระรามมีการเป็นสีเหลืองหรือสีขาว อีกชนิด คือ กฤษณะตุลสี (Krishna Tulsi) มีใขและลำต้นสีม่วงเข้ม ขนาดเล็กกว่าชนิดแรก

ตำนานที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ปุราณ เกี่ยวกับที่มาของต้นตุลสี ได้เล่าไว้ดังนี้ พระวิษณุมีภรรยาอยู่สามคน คือ พระนางสรัสวตี พระนางลักษมี และพระนางคงคา อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงระหว่างพระสรัสวตีกับพระนางลักษมี พระนางสรัสวตีจึงได้สาปแช่งให้ พระนางลักษมีกลายเป็นต้นตุลสีไปเกิดอยู่บนโลกมนุษย์ตลอดกาล แต่ในขณะที่ทั้งสองทำเลาะวิวาทกันอยู่นั้นเอง พระวิษณุก็ทรงอยู่ ณ ที่นั้นด้วย จึงกล่าวกับพระนางลักษมีด้วยความเห็นใจว่า ลักษมีถึงแม้ว่าเจ้าจะกลายเป็นตุลสีไปบังเกิดยังโลกมนุษย์ก็ตาม เมื่อใดที่คำสาปหายไปเจ้าก็กลับคืนสู่สภาพเดิมและกลับมาอยู่กับข้าดังเดิม ระหว่างช่วงเวลาที่เจ้าบังเกิดเป็นต้นตุลสีอยู่ในโลกมนุษย์จะมีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่า คันธกี (The Gandaki River) ไหลออกมาจากร่างกายของเจ้าและบนฝั่งของแม่น้ำสายนี้เอง ข้าจะอยู่เคียงข้างเจ้าและจะจำแลงเป็นก้อนหิน ที่เรียกว่า สลกรมฺศิลา

จากเรื่องที่กล่าวมาแล้วนี้จึงทำให้ชาวฮินดูมีความเชื่ออย่างยิ่งเกี่ยวกับการสาปแช่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุคคลห้าประเภท อันได้แก่ นักบวช (สาธุ) แม่หม้าย คนพิการ ยาจก และสุดท้ายคือ ฮีจาร่า (บุคคลสองเพศ) ดังที่เราทั้งหลายได้พบเห็นกันตามรถไฟขบวนต่างๆ ถ้าบุคคลดังที่กล่าวมาแล้วนี้ได้สาปแช่งบุคคลใด ชาวอินเดียเชื่อว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้รับความเจริญและจะมีอันเป็นไปตามคำสาปแช่งนั้น

สำหรับชาวอินดูไวศวนิกาย (นับถือพระวิษณุ) ต้นตุลสีถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดและพิธีกรรมใดที่จัดขึ้นหากขอกตุลสีแล้วถือว่าพิธีกรรมนั้นไม่สมบูรณ์หรือไม่อาจจะจัดขึ้นได้ ตุลสีได้ถูกยอมรับนับถือกันทั่วไปในกลุ่มชาวฮินดูว่าเปรียบเสมือนหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปัดเป่าความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงและปกป้องพวกเขาจากเงื้อมมือของพระยายม หรือที่คนไทยเรียกว่าพระยามัจจุราช ชาวฮินดูยังเชื่ออีกว่าหากใครเผลอไปทำกิ่งหรือก้านของตุลสีหักถือเป็นบาปมหันต์เลยทีเดียว และเป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ในการบูชาตุลสีของแต่ละกลุ่มบุคคล การอธิษฐานขอพรและความเชื่อก็จะแตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าแม่หม้ายบูชาตุลสี พวกเขาก็จะเรียกว่าพรที่พวกเขาจะได้รับคือ จะพบกับความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงที่พวกเขาได้ประสบมาแล้ว หญิงสาวชาวฮินดูที่ยังไม่แต่งงานบูชาตุลสีก็ด้วยมีความเชื่อว่า พวกเขาจะพบได้เจอกับสามีที่ดีในอนาคต คู่สามีภรรยาบูชาตุลสีก็เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้บุตรชาย และเป็นบุตรที่ดีของพ่อแม่และญาติพี่น้อง และคนชราตายไปจะได้ไปบังเกิดยังสวรรคโลก นอกจากนี้แล้วตุลสียังถูกนำมาใช้ในการประกอบพิธีศพของวรรณะพราหมณ์ เมื่อครอบครัววรรณะพราหมณ์ครอบครัวใดมีคนกำลังจะตาย ญาติก็จะไปเชิญนักบวชมาประกอบพิธี โดยที่นักบวชจะนำเอาต้นตุลสีไปวางใกล้ๆ กับผู้ที่กำลังจะตาย หลังจากที่นักบวชได้ทำพิธีบูชาตุลสีแล้ว นักบวชก็จะนำเอาใบตุลสีวางไว้ที่ หน้า ตา หู และหน้าอกของผู้ที่จะตายและนักบวชก็จะนำเอาใบตุลสีไปจุ่มกับน้ำแล้วนำมาพรมตั้งแต่หัวไปจนถึงเท้าแล้วยื่นให้แก่ผู้ที่กำลังจะตาย ในขณะนั้นบรรดาเหล่าญาติก็จะตะโกนดังๆ ว่า ตุลสี ตุลสี และที่สำคัญคือถ้าหากว่าผู้ที่กำลังจะตายได้ดื่มน้ำตุลสี (ใบตุลสีผสมน้ำ) เมื่อตายไปแล้วก็จะได้ไปจุติยังดินแดนของพระวิษณุ (Vishnu Laka) และที่ขาดไม่ได้เลยคือฟืนที่นำมาเผาศพจะต้องประกอบด้วยไม้ ๓ ชนิด คือ ไม้ตุลสี ไม้จันทร์ ไม้ปะละสาค (Palasac Wood) หรือที่คนไทยเรารู้จักกันคือทองกวาวนั้นเอง จึงจะถือว่าพิธีฌาปนกิจศพสมบูรณ์

นอกจากนี้ตุลสียังมีสรรพคุณทางเภสัชอีกด้วย ใบตุลสีมีกลิ่นหอมสามารถเป็นยาแก้ไอ และรักษาโรคทางเดินหายใจได้อีกด้วย หรือทานหลังอาหารหนึ่งหรือสองใบจะช่วยย่อยอาหาร การทานใบตุลสีก่อนหรือหลังอาบน้ำเย็นจะช่วยรักษาอุณหภูมิในท้องให้เหมาะสมและช่วยป้องกันการปวดเมื่อยจากความหนาว

และอีกอย่างคือชาวฮินดูรู้จักวิธีการใช้ใบตุลสีเพื่อป้องกันการก่อตัวของเชื้อราและแบคทีเรีย โดยใส่ลงในน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภคได้อีกด้วย ดังนั้น ตุลสีจึงถือได้ว่าเป็นต้นไม้ที่ขาดเสียไม่ได้ในวิถีชีวิต และวิถีแห่งศาสนาของชาวฮินดู.

การบูชาพระอาทิตย์

ดวงอาทิตย์ส่องสว่างเฉพาะกลางวัน

ดวงจันทร์ส่องสว่างเฉพาะกลางคืน

กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้ว จึงสง่างาม

พราหมณ์เพ่งพินิจ จึงสง่างาม

แต่พระพุทธเจ้าทรงสง่างามด้วยพระเดช ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

การบูชาที่ยิ่งใหญ่ของชาวฮินดูที่เรารู้จักกันดี คงจะปฏิเสธไม่ได้กับการบูชาพระอาทิตย์ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นวิถีชีวิตยาวนานของชาวฮินดู มีการบูชาทั้งเวลาเย็นและเช้า ประชาชนจำนวนมากนำสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องบูชาสุริยะเทพ โดยมีความเชื่อว่าสุริยะเทพนนั้นเป็นผู้มีพระคุณในการให้แสงสว่างแห่งชีวิต ถ้าไม่มีแสงอาทิตย์แล้วก็จะไม่สามารถดำเนินชีวิตไปได้ พร้อมทั้งทำการบูชาแม่คงคา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลของตนเองและความเจริญรุ่งเรื่องแห่งชีวิต แต่ละครอบครัวจะจัดเตรียมสิ่งของเครื่องบูชาต่างๆ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว ส้มโอ และขนม เป็นต้น

ชาวฮินดูถือว่าสุริยะเทพนั้นเป็นผู้มีความสำคัญต่อชีวิต พร้อมทั้งให้แสงสว่างต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้นจึงได้มีการบูชาพระอาทิตย์เพื่อตอบแทนคุณและขอพร ส่วนสำหรับเราชาวพุทธ แสงสว่างแห่งปัญญาประเสริฐกว่าแสงสว่างอื่น เพราะว่าแสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้นส่องได้เฉพาะที่เท่านั้น แต่แสงสว่างแห่งปัญญานั้นสามารถที่จะสามารถส่องได้ทุกที่ สามารถที่จะนำตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติตนตามหลักคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยิ่งทำให้เรานั้นเป็นผู้ที่สมบูรณ์ดั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ แต่อย่างไรก็ตามเรามาดูประเพณีและความเชื่อ เพราะเป็นความเชื่อที่ให้ผลแก่จิตใจของชาวฮินดู โดยเฉพาะชาวเมืองพาราณสีแล้ว ถือว่าสำคัญต่อชีวิติมาก

ช่วงเวลาเย็นของทุกวัน ประชาชนจะทยอยพากันมาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ในมือถือเครื่องบูชาสักการะ บางคนก็เดินสวดมนต์มาตั้งแต่บ้านจนถึงแม่น้ำคงคา จากนั้นก็จะวางเครื่องบูชาไว้ มีการจุดธูปเทียน มีการไหว้พระแม่คงคา ผู้หญิงจะถือเครื่องบูชาและลงไปยืนนอยู่ในแม่น้ำแล้วสวดมนต์ พอเสร็จแล้วก็พากันเดินทางกลับบ้าน

แต่เช้าตรู่ของวันใหม่ ก็จะพากันไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาอีกรอบ สวดมนต์พร้อมตั้งจิตอธิษฐานจนกว่าพระอาทิตย์ขึ้น ในขณะที่พระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าก็จะพากันโห่ร้องบูชาสุริยะเทพ โอมสุริยะเทพ จากนั้นก็พากันลงอาบน้ำเพื่อล้างบาปในแม่น้ำคงคา ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระแม่คงคาและสุริยะเทพ เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองเหมือนแสงพระอาทิตย์ และครอบครัวอยู่ร่มเย็นเป็นสุขเหมือนแม่น้ำคงคา โดยเฉพาะหญิงสาวแล้วจะให้ความสำคัญในการบูชามากเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือว่าเป็นการไปประกาศตนต่อสุริยะเทพว่า ฉันเป็นสาวแล้วนะ สามารถที่จะทำอะไรได้ คือว่า สามารถที่จะแต่งงานได้ หรือทำงานต่างๆ ได้ และเป็นการล้างบาปตอนเป็นสาวพร้อมที่จะดำเนินชีวิตแบบสาวเต็มตัว อย่าว่าแต่สาวอินเดียเล้ย แม้สาวญี่ปุ่นบางคนก็ทำเหมือนกัน แต่ไม่มากนัก สงสัยอยากประกาศตนว่าเป็นสาวแล้ว อย่างสาวอินเดีย.....อิอิ

หลังจากอาบน้ำเสร็จ ก็จะเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าใหม่ที่นำมา คือว่า เปลี่ยนผ้าที่เป็นเด็กให้กลายเป็นสาวเต็มตัว ก็พากันเดินทางกลับบ้าน แล้วมีการฉลอง หรือนำอาหารต่างๆ และเครื่องบูชานั้นมากินเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และจะทำให้ชีวิติของตนพบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองในปีนั้น.

อารยวิถี

วันและเวลานั้นย่อมแปรเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของโลกและจักรวาลพร้อมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ ทำให้อายุของสิ่งต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้พบกับการเริ่มต้น และการก้าวสู่การสิ้นสุด เราอาจจะนับเวลาเป็นอายุ หรือนับเวลาเป็นขอบเขตของการก้าวสู่วันใหม่ การสิ้นสุดของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น เมื่อสิ้นกายนี้ก็แปรเปลี่ยนไปสู่กายอื่นตามสภาพปัจจัยเกื้อหนุนที่เรียกว่า กรรม การขับเคลื่อนของการสลัดร่างของสภาพจิตวิญญาณ ก็ไม่ต่างกับการที่เราถอดเสื้อเก่าที่คร่ำคร่าแล้วเปลี่ยนไปสวมเสื้อใหม่

ในวิจิตรแห่งอารยธรรมของจิตวิญญาณของโลกตะวันออกนั้น การขับเคลื่อนของการเปลี่ยนสภาพกาย-จิต ขึ้นอยู่กับการกระทำทางความดี-ความชั่ว เพราะผลห่อหุ้มจิตมิให้ผ่องใส ในกรรมกิเลสแห่งสิ่งไม่ดีย่อมไม่ต่างกับเมล็ดพันธุ์พืชที่ยังมียางหุ้มห่อเมล็ด เมื่อเมล็ดพันธุ์นั้นตกสู่ ณ ที่ใด เมล็ดพันธุ์นั้นย่อมเติบโตขึ้น และโคจรกลับสร้างวัฏจักรของการมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ในอารยวิถีแห่งผู้รู้ การที่พยายามขจัดยางเหนียวของกิเลส คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นงานทางจิตวิญญาณที่คนใดคนหนึ่งไม่สามารถหยิบยื่นให้กันได้ หากแต่ต้องก้าวเดินด้วยตนเอง และผู้ที่ได้เดินผ่านไปแล้วเพียงได้แต่ชี้แนะแนวทางเพียงเท่านั้น

พระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูแห่งอารยชน ผู้พลิกเรื่องจิตวิญญาณ เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนสามารถคิดได้และพระพุทธองค์ทรงเป็นผู้เพิกถอนกงล้อแห่งความทุกข์ มิให้เป็นสิ่งทำให้ผู้คนระทมอยู่กับความระทม ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงประดุจเครื่องวินิจฉัยโรคของแต่ละบุคคล จากนั้นจึงจัดยาระงับโรคแห่งความทุกข์ทรมาน ด้วยยาสองขนาน คือ วิปัสสนาและสมถะ อันเป็นยาระงับโรคแห่งกายและใจได้ อย่างที่ไม่มีที่ไหนขายในโลก อันมีค่ามากจนหาซื้อไม่ได้ด้วยเงินตรา หรือไม่มีราคาแต่หาได้ยากยิ่ง ในสภาวะปัจจุบัน กิเลสนั้นได้พัฒนาไปควบคู่กับความเจริญทางวัตถุแห่งความคิดของผู้คน ความละเอียดของกิเลสมีมาก ขนาดที่เราไม่รู้สึกเลยว่าเราได้ตกอยู่ในห้วงของกิเลสมานานมากเพียงใด เพราะกิจวัตรของกิเลสได้เกาะอยู่ทุกอายตนะของคนเรา จะว่าไปแล้ว เริ่มตั้งแต่เราลืมตาขึ้นมาดูโลก และแม้กระทั่งเราตื่นจากการหลับ เพราะกิเลสไม่เคยพักผ่อน หรือแม้แต่ในความฝัน กิเลสก็ยังเข้าไปปรุงแต่งได้อีก หากเมื่อใดจิตได้เหนื่อยล้าหรือเมินเฉยต่อการยืนหยัดในความดี กิเลสทั้งหลายก็เข้ามายึดที่มั่นในจิต ทำให้เราอาจเผลอเดินตามกิเลสมายาวนาน จนถึงขั้นเป็นกิจวัตรของการดำรงชีวิตเลย

พระอริยะแห่งผู้รู้ ได้ทรงวางตาข่ายเพื่อกันกระแสแห่งกิเลสเหล่านั้น ซึ่งมีความยาวนานถึง 2500 ปี เป็นสิ่งที่ได้ถูกมอบให้ทุกคน ตามคำมั่นสัญญาของการเพิกถอนกิเลสที่ตามแต่ทุกคนจะสามารถทำได้ หากเมื่อบุคคลนั้นได้ปฏิบัติตามรสแห่งบรมสุขย่อมปรากฏแก่ผู้นั้น แม้ว่า ในภาวะปัจจุบันการเดินตามเงื่อนไขของสังคมโลกจำทำให้ความวุ่นวายแห่งจิตมีมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งของสังคมยังมีต้นไม้ไว้ให้เกิดร่มเงา รอให้คนได้มาพักพิง นั่นคือร่มแห่งพระพุทธศาสนาที่สร้างอารยวิถีให้คนได้เดินตาม ได้รับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ที่มีในความอิสระ

การเดินทางที่มีจุดหมายของชีวิต หากมีโอกาสควรหาเวลามาสัมผัสกับอารยวิถีที่เป็นหนทางเตรียมความพร้อมให้ทุกคนสร้างกรรมดี และเตรียมการเคลื่อนสู่เสื้อผ้าชุดใหม่ เพราะตราบใดที่เรายังอยู่ไม่ได้อยู่เหนือปัจจัยของนอกเหตุเหนือผล การเดินทางย่อมยังยาวไกลที่จะหยุดพักอย่างถาวร หากบ้านที่แท้จริงยังรอคอยการกลับมาอย่างถาวรของทุกอณูแห่งจิตวิญญาณ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากเราก้าวเข้าสู่หนทางแห่งอารยวิถี หนทางข้างหน้าก็ยังอีกไม่ไกลที่จะได้พักอยู่บ้านที่แท้จริง แม้หนทางแห่งอารยวถีจะเป็นหนทางที่มุ่งตรงสู่ความไม่อาลัยต่อสิ่งทั้งปวง และเป็นทางชั้นเอกที่แม้พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นสะพานข้ามกองกิเลสทั้งปวง และอารยวิถีนี้ยังคงรอให้ทุกคนได้ก้าวมุ่งสู่ความเป็นอิสระแห่งชีวิต ก่อนที่เสื้อชุดเก่าที่คร่ำคร่าจะถูกปลดทิ้ง และก่อนที่ดวงจิตจะมุ่งตรงสู่ที่แห่งใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ครั้งหนึ่งในร้านเสริมสวยเมืองพาราณสี

คุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเข้าร้านเสริมสวยหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างงั้นไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหนก็ตามสิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำและลองก็คือการหาทางใช้บริการร้านเสริมสวย ไม่ว่าจะแพงหรือร้านจะหายากขนาดไหนไม่เป็นไรแต่ผู้หญิงทุกคนก่อนใช้บริการร้านเสริมสวยขอเพียงมั่นใจว่าเมื่อตัดเสร็จแล้วต้องสวยแน่ใช่หรือเปล่าค่ะ เต็มใจจ่ายอยู่แล้ว น้อยไปซะอีกกับการลงทุนเกี่ยวกับความสวยงาม

ใครจะว่าไงไม่สำคัญ แต่สำหรับดิฉันที่ผ่านการรับราชการมา 8 ปีเลยได้ข้อสรุปว่าบุคลิกภาพดีเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะทรงผมนั่นเอง นี่เองเป็นสาเหตุที่ดิฉันต้องเข้าร้านเสริมสวย(ตัดผม)เดือนละครั้งเมื่อครั้งอยู่เมืองไทย ดังนั้นเมื่อดิฉันได้เดินทางมาถึงเมืองพารานสีแห่งนี้ไม่กี่เดือน ทุกครั้งไม่ว่าจะปั่นจักรยานหรือนั่งรถผ่านเส้นทางใดจะต้องมองหาร้านเสริมสวยทุกครั้งไป แต่ด้วยในเวลานั้นความสามารถในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างยากจน (แขกว่าประจำ you are very poor) จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากในการค้นหาร้าน และแล้วความพยายามของดิฉันก็เป็นผลโดยไม่ทันตั้งตัว เมื่อมีหมอต่างชาติคนหนึ่งที่อยู่หอพักเดียวกัน ได้ไปเปลี่ยนทรงผมใหม่ ดูเก๋ไก๋เข้ากับใบหน้าของเธอมาก ซึ่งเป็นสไตล์ที่ดิฉันชอบพอดี ถึงแม้ English is very poor ก็ไม่สนใจยังไงต้องถามให้รู้ถ้าไม่เข้าใจเราก็มีอีกภาษาหนึ่งก็คือ body language น่าจะช่วยอธิบายได้ดีกว่าภาษาอังกฤษนะ ด้วยความใจดีของเธอบวกกับความสามารถในการสื่อสารของดิฉันจึงได้ความว่าตัดที่ร้านไหน พร้อมแผนที่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือบอกช่างตัดผมแค่เพียงว่า very short และจ่ายเงินไม่เกิน 90 รูปีย์ ดิฉันเริ่มประทับใจแล้วสิ ร้านตัดผมอะไรตัดผมได้สวยแล้วไม่แพงด้วย very short ท่องไว้ไปบอกช่างตัดผมนะ (บอกตัวเอง)

ด้วยความที่เสาะหามานานได้โอกาสแล้วจึงรีบชวนเพื่อนคนไทยร่วมห้องไปเป็นเพื่อน เพราะว่าเพื่อนน่าจะพาไปถูกกว่าไปคนเดียวเพราะเธออยู่อินเดียมานานกว่าดิฉัน และแล้วก็ไปเจอร้านนั้นจนได้ ในความคิดของดิฉันตอนนั้น โอ้โห ร้านจัดสวย ดูดีผิดร้านเสริมสวยทั่วไปในเมืองนี้ เหมาะสมที่จะตัดผมเราจริง ๆ เมื่อเดินเข้าไปในร้าน ก็พบว่ามีช่างเสริมสวย หน้าตาสวย น่ารัก ขาว ใส แต่งตัวทันสมัย เหมือนคนจีน เพื่อนสันนิษฐานให้ฟังว่าน่าจะเป็นคนธิเบตแน่หน้าตาแบบนี้ เวลานั้นมีลูกค้าพอสมควร ก็เลยนั่งรอสักครู่ใหญ่ ผู้หญิงเจ้าของร้านวัยกลางคน ก็มาถาม (แน่นอนภาษาอังกฤษค่ะ) เลยบอกไปว่ามาตัดผม (ขอทำความเข้าใจก่อนว่าประสบการณ์ ที่เมืองไทยเมื่อบอกว่ามาตัดผม ช่างจะทำอย่างไร บอกให้ลูกค้าไปนอนสระผมก่อนและหลังตัด สระด้วยแชมพู 2 ครั้ง และครีมนวด 1 ครั้ง) เมื่อได้เวลาช่างเรียกไปตัดผม ด้วยความเคยชินที่เมืองไทยเลยเกิดความสงสัยว่าทำไมไม่สระผมให้ก่อน ก็เลยบอกช่างว่าจะสระผม เค้าก็เลยเรียกอีกคนพาเราไปสระผม ทีนี้เจอปัญหาใหญ่เข้าแล้ว เพราะว่าร้านเสริมสวยแถวบ้านดิฉันไม่เคยมีอุปกรณ์ชนิดลูกค้านั่งให้สระ ก็เลยทุลักทุเลพอสมควร ช่างสระให้เพียงครั้งเดียว แล้วล้างเลยแถมล้างไม่สะอาดเพราะสังเกตว่ายังมีฟองอยู่เต็มเลยบริเวณท้ายทอย และที่สำคัญถูกล้างหน้าโดยปริยายเพราะน้ำไหลลงมาเปียกหน้า ส่วนคอเสื้อไม่ต้องถามเปียกไปหมด สระผมไม่มีการเช็ดผมให้ แต่ดิฉันต้องขอผ้ามาเช็ดหน้า แล้วก็เช็ดผมเอง

ทีนี้มาถึงตอนตัด จากที่ท่องไว้นานกลัวลืมเลยรีบบอกว่า very short และใช้มือประกอบการอธิบายปานกลางถึงมากที่สุดว่า ให้เลยหู ด้านหลังก็สั้นประมาณนี้ ช่างก็เก่งค่ะ ทำหน้าเหมือนเข้าใจเรา แต่เมื่อสังเกตไปขณะที่หล่อนตัดเหมือนจะใช้หวีไม่ถนัดเพราะหวีมันอันใหญ่เกินไปไม่เหมาะสมกับการใช้ตัดผมสักนิดเลย (เริ่มกลัวแล้วสิว่าจะได้ทรงผมทรงอะไรหว่า) ด้วยบุคลิกภาพส่วนตัวของดิฉันคือเป็นคนไม่ค่อยพูดและค่อนข้างเกรงใจไม่ติขณะที่ถูกตัดผม ดังนั้นเลยปล่อยให้ช่างตัดผมไปจนเสร็จคือใช้แป้งโรยที่คอและปัดผมออกจากเสื้อให้เรียบร้อยแล้ว ก็พบว่าไม่เห็นจะสั้นตรงไหนเลย แต่ก็ไม่ได้ต่อว่าช่างว่าอะไร ช่างมันเหอะแต่ก็อดเสียดายไม่ได้ว่าไม่ได้ทรงเดียวกับหมอเหมือนที่ผันไว้เลย แต่เพื่อนที่ไปด้วยไม่พอใจหลังจากนั่งมองอยู่นานก็เลยขอติช่างแทนเราโดยขอให้ช่างตัดให้สั้นขึ้นกว่านี้อีก โดยบอกว่า very very short ก็ไม่ได้พูดแตกต่างจากดิฉันตอนแรกเท่าไหร่ แค่มี very มากกว่าตัวเดียวเอง หลังจากนั้นช่างก็เริ่มลงมือเหมือนตัดผมใหม่เป็นครั้งที่ 2 เลย คือพรมน้ำที่ผมให้เปียกแล้วก็ตัดอีก ผลเป็นไงทราบมั้ยค่ะ ดิฉันรู้สึกเหมือนว่ากำลังจะเข้าไปรับราชการทหารเลย มองแล้วเหมือนผู้ชายอะไรจะขนาดนั้น ด้านหลังก็ทุย เป็นเส้นตรงเป๊ะ และสั้นมาก มองเป็นเหลี่ยมเลย ส่วนด้านข้างเหนือหู ก็เป็นเส้นตรง ไม่มีความอ่อนช้อย หรือเป็นรากไทรตามลักษณะของทรงผมผู้หญิงให้เห็นเลย ราคาเหรอค่ะจ่าย 2 เท่าที่หมอบอกค่ะ 180 รูปีย์ (สงสัยช่างคิดว่าตัด 2 หัว แน่เลย) ตัดผมสั้นตอนหน้าหนาว ก็เลยต้องใส่เสื้อคอเต่าปิดบังต้นคอไปพลาง ๆ จนกว่าผมจะยาว หรือถ้าหน้าหนาวผ่านไปก่อนแต่ผมยาวไม่ทันหน้าร้อนก็ค่อยมาคิดว่าจะแก้ไขยังไง ตั้งแต่คราวนั้นเลยตั้งใจไว้ว่า จะไม่ตัดผมที่อินเดียอีกเด็ดขาด ถ้าได้กลับไปเยี่ยมบ้านจะต้องเอากรรไกรตัดผมทุกชนิดมาตัดเองดีกว่า หรือไม่งั้นก็จะปล่อยยาวให้พะรุงพะรังไปเลย ทิ้ง concept เมื่อคราวอยู่เมืองไทยไปซะ เข็ดแล้ว ก็เลยได้คติพจน์ประจำใจจากเหตุการณ์นี้มาว่า ตัดผมผิด คิดจนผมยาว

วันวิสาขบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา


เชื่อ ว่าทุกคนรู้จักชื่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่าง วันวิสาขบูชา กันดีอยู่แล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบความเป็นมา และความสำคัญของ วันวิสาขบูชา ถ้างั้นอย่ารอช้า...เราไปค้นหาความหมายของ วันวิสาขบูชา และอ่าน ประวัติวันวิสาขบูชา พร้อมๆ กันดีกว่า


ความหมายของ วันวิสาขบูชา
คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6
การกำหนด วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ตรง กับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน
          อย่างไรก็ตาม ในบางปีของบางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ
ประวัติวันวิสาขบูชา และความสำคัญของ วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่
1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

          เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"

          เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า " พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้น ด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส
2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ
          หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
   สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ

วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา
ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ " คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)
          เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน
          เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธุ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น

วันวิสาขบูชา


ประวัติความเป็นมาของ วันวิสาขบูชา ในประเทศไทย
          ปรากฎหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา
   ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนา กับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
          สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า  เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ
หลัง จากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ  และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล โดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และ ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day  ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน
การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา
การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่
1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา
2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป
3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ
กิจกรรมใน วันวิสาขบูชา

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2.  จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา 
3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
หลักธรรมที่สำคัญใน วันวิสาขบูชา ที่ควรนำมาปฏิบัติ
ใน วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรม ซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ความกตัญญู
          คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ
          ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระ พุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป
2. อริยสัจ 4

          คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพลาดจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น
สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้
มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ  ดำริชอบ  วาจาชอบ กระทำชอบ  เลี้ยงชีพชอบ  พยายามชอบ  ระลึกชอบ  ตั้งจิตมั่นชอบ
3. ความไม่ประมาท

          คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ

 

วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์  อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการ ดำรงชีวิต

 

Source:  http://hilight.kapook.com/view/23220

ภรรยา 4 คน

ชายคนหนึ่งมีภรรยา อยู่ 4 คน
ภรรยาคนที่ 1
เขารักที่สุด ไปไหนมาไหนด้วยกัน ตามใจตลอดอยากได้อะไร  
เขาหาให้ทุกอย่าง 

ภรรยาคนที่ 2
เขารักมาก เขาจะทำทุกสิ่ง
ทุกอย่างเพื่อภรรยาคนนี้  
และจะไปหาภรรยาคนนี้เสมอ


ภรรยาคนที่ 3
เขารักรองลงมา ดูแลเอาใจใส่พอควร แวะไปหาบางเป็นครั้งคราว 
ภรรยาคนที่ 4
เขาไม่เคยสนใจ ไม่เคยดูแลเอาใจใส่ ไม่เคยไปหา ไม่คิดถึงเลย ด้วยซ้ำ


ต่อมาชาย คนนี้ไปกระทำความผิดร้ายแรง
และถูกจับ ต้องถูกประหารชีวิต ก่อนที่จะถูกประหาร เขาขอร้องว่า เขาขอกลับบ้าน
เพื่อไปร่ำลาภรรยาสุดที่รักซักครั้ง  
ผู้คุมเห็นใจจึงอนุญาต  
เมื่อกลับมาถึงบ้าน เขารีบตรงไปหา
ภรรยาคนที่ 1
เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง  
และถามภรรยา คน ที่ 1 ว่า


" ถ้าเขาต้องตายภรรยาคนที่ 1  
จะทำอย่าง ไร? " 


ภรรยาคนที่ 1
ตอบน้ำเสียงที่เย็นชาว่า 
“ถ้าเธอตาย เราก็จบกัน”

คำตอบที่ได้รับ  
เหมือนสายฟ้าที่ผ่าเปรี้ยง!! ลงมาที่เขาอย่างจัง  
เขารู้สึกเจ็บปวด และเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
นึกเสียดาย ว่าเขาไม่ควรทุ่มเทให้ภรรยาคนนี้เลย


จากนั้นเขาก็ ไปหา
ภรรยาคนที่ 2 
ด้วยอาการเศร้าโศก เล่า เรื่องราวต่างๆ ให้ ฟัง  
และถามคำถามเดิมกับภรรยาคนที่ 2 ว่า


" ถ้าเขาต้องตาย ภรรยาคน ที่ 2  
จะทำอย่างไร? "


ภรรยาคนที่ 2
ก็ ตอบอย่างหน้าตาเฉย ว่า 
" ถ้าเธอตาย ฉันจะมีใหม่ "

เหมือนสายฟ้า!! ผ่าลงมาซ้ำที่เขา อย่างจัง  
เขารู้สึกเสียใจมาก และนึกเสียดายว่าที่ผ่านมา
เขาไม่ควร ทุ่มเทให้ภรรยาคนนี้เช่นกัน



เขาเดินคอตกมาหา
ภรรยาคนที่ 3
เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ ฟัง  
และถาม ภรรยา คนที่ 3 ว่า


"ถ้าเขาต้องตาย ภรรยาคน ที่ 3  
จะทำอย่างไร? "


ภรรยาคนที่ 3
ตอบว่า 
"ถ้าเธอตาย ฉันจะไปส่ง " 

ทำให้เขาคลายความ เศร้าโศกขึ้นมาได้บ้าง  
อย่างน้อยก็ ยังมีภรรยาที่จริงใจกับเขา 


ก่อนกลับไปรับโทษ
เขานึกขึ้นมาได้ว่ามีภรรยาอีกคน ซึ่งไม่เคยไปหาเลย จึงไปหา
ภรรยาคนที่ 4 และถามว่า 


" ถ้าเขาต้องตาย ภรรยาคนที่ 4  
จะทำอย่าง ไร?"


ภรรยาคนที่ 4
ตอบว่า 
" ถ้าเธอตาย ฉันจะตามไป ด้วย "

แทนที่เขาจะดีใจกลับนึกเสียใจหนักขึ้นไปอีก  
เพราะ...มัน สายเกินไปเสียแล้ว ช่วงที่เขามีชีวิตอยู่
เขาไม่เคยเห็นค่าของภรรยาคนนี้ แต่ภรรยาคนนี้ไม่คิดที่จะทิ้งเขา จะติดตามเขาไปอยู่ด้วย  
แล้วชายคนนี้ก็กลับไปรับโทษประหาร
และเมื่อเขาตาย ภรรยาคนที่ 4 ก็ตายตามไป ด้วย.....


เราทุกคนก็ มีภรรยา 4 คน นี้

มีคำถามว่า
ภรรยาทั้ง 4 คนเป็นใคร? คิดกันก่อนนะ แล้วค่อยเฉลย...


ทีนี้เรามาดูกันว่า  
ภรรยาคน ที่ 1, 2, 3 และ 4  
เป็นใครกันบ้าง


ภรรยาคน ที่ 1  
ร่างกายของเรา
เพราะเวลาเรามีชีวิตอยู่  
เราจะบำรุงบำเรอด้วยของสิ่งทุกอย่าง  
อยากได้อะไรก็หาให้  
แต่พอเราตายมันกลับไม่ไปกับเรา  
เมื่อเราตาย
ร่างกายมันก็มีค่าเท่ากับท่อนไม้
ท่อนหนึ่งเท่านั้น


ภรรยาคน ที่ 2  
ทรัพย์สมบัติ
เพราะเวลาเรามีชีวิตอยู่  
เราจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้มันมา  
แต่พอเราตาย มันกลับไม่ไปกับเรา 

แต่ไปเป็นของคนอื่น


ภรรยาคนที่ 3

พ่อแม่ ลูกเมีย ญาติ พี่น้อง
เพราะพอเราตาย  
เขาจะทำศพให้เรา ทำบุญไปให้
แปลว่า
เขาแค่ไปส่งเราเท่านั้น


ภรรยาคนที่ 4  
บุญกับบาป
เมื่อเราตายไป  
เราไม่สามารถเอาอะไรไปด้วยได้  
มีเพียงแค่บุญกับบาปเท่านั้น

ที่จะตามเราไป
.....

เฮฮา ภาษาธรรม

image imageimageimage image image

 

image image image

 

ผู้ติดตาม

ออนไลน์หน้านี้

free counters