.

.
"สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข"
ข่าวประชาสัมพันธ์



ขอประกาศเลิกอัฟเดทข้อมูลที่Blogแห่งนี้
สามารถเข้าไปใช้งาน website อย่างเป็นทางการได้ที่
http://www.tsa-bhu.org/


ข่าวเด่น

* ขอแสดงความยินดีแด่.. พระครูใบฎีกา ดร. มานิตย์ เขมคุตโต , พระมหา ดร. ธีรชัย ปุญฺญชีโว , พระ ดร. ราเชนทร์ วิสารโท ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ B.H.U. ในปี ๒๕๕๓






* สมาคมพระนักศึกษาไทย มหาววิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันลงอุโบสถ ที่วัดไทยสารนาถ พร้อมเจริญพระพุทธมนต์ ณ ธัมเมกขสถูป เนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์





สมาคมพระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสีได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ "๑๓ เมษา เสนคุปต้ามหาสงกรานต์" ประจำปี ๒๕๕๓ ณ หอเสนฯ โดยมีคณาจารย์ทางมหาลัย และต่างชาติเข้าร่วมนับร้อยชีวิต ในวันที่ ๑๓ เมษายน ที่ผ่านมา





* พระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันจัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ (๕ ธันวามหาราช) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล





* ๕ ธันวามหาราช ขอเชิญร่วมถวายภัตตาหารเพลพระนักศึกษาไทย และนานาชาติ จำนวน ๘๒ รูป และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรได้ที่ หอเสนคุปตลอล์จ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒





* กฐินสังฆประชาสามัคคี ณ หอเสนคุปตาลอจ์ด มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นำโดย พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


ห้ามุมมอง สองข้างทางอินเดีย

อากาศร้อนๆ ของเดือนมิถุนายน พระนิสิตหลายรูปจะเดินทางไปหาเรียนพิเศษเพิ่มเติม และถือโอกาสหนีร้อนไปด้วย บางรูปก็เดินทางกลับเมืองไทย ผมเองไม่ได้ไปไหน ว่างๆ ก็จะเดินทางไปนมัสการ ณ ธัมเมกขสถูป เมืองสารนาถอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งขณะนั่งรถไปสารนาถเห็นข้างทางก็เลยนึกขึ้นได้ถึงคำกล่าวของพระเดชพระคุณท่าน พระราชรัตนรังษี เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวอินเดียเกี่ยวกับสองข้างทาง เราจะสังเกตเห็นตามเส้นทางนมัสการสังเวชนียสถาน ทั้ง ๔ ตำบล จะพบเห็นสิ่งบางอย่างนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะแบ่งออกได้เป็น ห้ากองใหญ่ๆ คือ
ประเภทที่หนึ่ง กองอิฐ ในระหว่างสองข้างทางของการเดินทางในประเทศอินเดีย เราจะพบเห็นกองอิฐกองหินเป็นจำนวนมาก แม้แยกออกก็จะได้เป็นสองอย่างด้วยกัน ประการแรกกองหินที่วางอยู่เรียงรายตามริมทาง ประเทศอินเดียปัจจุบันกำลังทำการก่อสร้างถนนหลายเส้นสาย แม้แต่เส้นทางสายที่คณะผู้แสวงบุญใช้เดินทางไปกราบไหว้สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา จะเห็นอยู่เกือบตลอดเส้นทาง บ้างก็นำมาสร้างถนน บ้างก็นำมาก่อสร้างบ้านเรือน อิฐหินเหล่านี้เขาจะนำมาเป็นก้อนใหญ่ๆ โตๆ โดยรถบรรทุก แล้วใช้แรงงานคนในการทำให้เป็นก้อนเท่าที่ต้องการ โดยทุบเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคน ผมเคยสอบถามชาวอินเดียว่าทำไมไม่ใช้เครื่องจักร จะได้สะดวกและรวดเร็ว เขาตอบว่านี่เป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชาวบ้าน คนในท้องถิ่นจะได้มีงานทำ คนก็ไม่ตกงาน นับว่าเป็นคำตอบที่สุดยอดมากเลยทุกท่านว่าไหม? ถ้าท่านใดเคยเดินทางไปที่ถ้ำดงคสิริ เมืองคยา ระหว่างเส้นทางก่อนจะขึ้นถ้ำดงคสิริเราจะเห็นชาวบ้านมานั่งทุบหินกันเป็นจำนวนมาก. ประการที่สอง ก้อนอิฐ คล้ายกับอิฐแดงบ้านเรา (อิฐมอญ) ผู้แสวงบุญจาริกธรรมทุกท่าน เราไปยังสังเวชนียสถานจะเห็นสิ่งก่อสร้างโบราณวัตถุต่างๆ บ้างก็สมบูรณ์ บ้างก็ปรักหักพัง บ้างก็ทับถม บ้างก็กองเป็นกองๆ ไม่รู้ว่าเป็นสถานที่อะไร มีสัณฐานรูปร่างอย่างไร สิ่งเหล่านี้แหละเป็นสิ่งชี้แสดงให้เห็น ให้รู้ว่าเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเรา โดยการนำอิฐมาทำกุฎี วิหาร อุโบสถ กำแพง เจดีย์ จนมาถึงยุคปัจจุบัน ชาวอินเดียก็ยังนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งดูแล้วมีลักษณะรูปร่างคล้ายกัน หากต่างกันก็เพียงขนาดเท่านั้น
ประเภทที่สอง กองดิน อย่างที่ทุกท่านรับทราบกันว่าอินเดียเป็นเมืองที่มีแหล่งอารยธรรมอันยาวนาน ศาสนาต่างๆ ส่วนมากจะกำเนิดที่ประเทศนี้ ศาสนาพุทธของเราก็เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราได้มาประเทศอินเดีย มานมัสการสังเวชนียสถาน มาท่องเที่ยว ก็จะเห็นสิ่งก่อสร้างมากมาย นับไม่ถ้วน ทำไมถึงกล่าวว่านับไม่ถ้วน เพราะว่ายังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ที่ทางกรมศิลป์อินเดียยังไม่ได้ขุดค้น ซึ่งเกี่ยวกับพุทธศาสนาก็มีมากมายหลายที่ เช่น สถูปเกศเรีย พื้นเมืองสาวัตถี เมืองกบิลพัสดุ์ใหม่ เป็นต้น เราจะเห็นกองดินขนาดใหญ่เรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ภายใต้กองดินเหล่านั้นคือสิ่งก่อสร้างโบราณวัตถุที่ยังรอการขุดค้น แม้แต่สถานที่ต่างๆ ที่เราได้ไปทำการกราบไหว้นั้น ที่เราเห็นเป็นรูปร่างในปัจจุบัน เมื่อก่อนล้วนถูกฝังอยู่ภายใต้แผ่นดินเสียส่วนใหญ่ จนกระทั่งมีการขุนค้นตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จึงทำให้เราได้รับทราบถึงแต่ละสถานที่ที่เราได้มาจาริกธรรมแสวงบุญฯ อีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจมากตามริมสองข้างทาง เป็นกองดินขนาดเล็กจะพบเห็นได้มากมีลักษณะสี่เหลี่ยมสูงประมาณ ๑ ศอก ทุกท่านคงจะสงสัย ผมเองก็มีความสงสัยเหมือนกัน มาทราบภายหลังว่าเขาเอาไว้ปลูกต้นไม้ เนื่องจากว่าเมื่อถึงฤดูฝน อินเดียเขตรัฐอุตตรประเทศ รัฐพิหาร จะมีที่ราบลุ่มเป็นส่วนมาก น้ำฝนก็มีจำนวนมากทำให้ท่วมต้นไม้ตายเป็นจำนวนมาก ทางบ้านเมืองก็เลยมีนโยบายการทำเป็นกองดินให้สูงเอาไว้ก่อนปลูกต้นไม้ นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกมากเพราะมีมากจนน่าสงสัยสำหรับผู้พบเห็น
ประเภทที่สาม กองคน อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมาก ประมาณ ๑,๔๐๐ ร้อยล้านกว่าคน การที่ประชากรมากอย่างนี้ ระบบสังคมจึงมีความคับคั่งแน่นหนา จริงอยู่พื้นที่ก็ใหญ่แต่ชาวอินเดียมักชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม และแยกออกกันเป็นหมู่บ้านของแต่ละศาสนา เราจะสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อเราเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ก็จะพบประชาชนตามท้องถนนเป็นจำนวนมาก บ้างก็เดิน บ้างก็ขี่จักรยาน บ้างก็นั่งรถประจำทาง และบางครั้งจะเห็นยืนกันเป็นกลุ่มใหญ่เลยทีเดียว ขึ้นชื่อว่าไทยมุงแล้ว ยังว่าสู้แขกมุงไม่ได้หรอก เพราะผู้เขียนเองมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องรถชนกัน วันหนึ่งได้เดินทางจากพุทธคยา มาเมืองพาราณสี ระหว่างทางมีรถยนต์ปะทะกับรถมอเตอร์ไซค์ ทุกท่านเชื่อไหมจราจรเส้นนั้นกลายเป็นอัมพาตไปเลย รถทุกคันไม่สามารถขยับตัวได้ ไม่ใช่เป็นเพราะรถเกิดอุบัติเหตุอย่างเดียวหรอก แต่เกิดจากจลาจลของชาวบ้านมามุงดูกันมากจนทำให้รถติดกันยาวเลย เมื่อชาวบ้านมาถึงทราบข่าวว่ารถยนต์ชนกับรถมอเตอร์ไซค์ในหมู่บ้าน ก็พากันตามหาผู้ขับรถยนต์ แต่ไม่เจอก็เลยพากันเผารถยนต์ทิ้ง ผู้เขียนเองก็ตกใจเหมือนกันกับเหตุการณ์ที่ได้พบเห็น ก็เลยสอบถามคนอินเดียที่สนิทกัน เขาก็อธิบายให้ฟังว่า ตามธรรมเนียมของชาวอินเดียแล้วเรื่องบางเรื่องตำรวจไม่สามารถมาเพื่อแค่คลายปัญหาได้เนื่องจากสถานีตำรวจอยู่ห่างจากจดเกิดเหตุ ชาวบ้านจึงได้ตัดสินก่อนคือเป็นการลงโทษ ชาวอินเดียโดยส่วนใหญ่จะใช้ กฎศาสนา นำก่อน ในการชี้ผิดชี้ถูกตามความเชื่อ ต่อมาก็เป็น กฎสังคม เพื่อคลี่คลายปัญหาโดยให้ผู้นำสังคม ผู้นำหมู่บ้านก่ายเกลี่ย แต่ถ้าไม่ได้ผลก็จะถึงเรื่องของ กฎหมาย เข้ามาบังคับใช้งานเพื่อพิจารณาปัญหา เหตุการณ์นี้ก็เหมือนกันชาวบ้านใช้กฎสังคมลงโทษก่อนเนื่องจากหาผู้รับผิดชอบการกระทำผิดไม่ได้ ผู้เขียนขอกล่าวเอาไว้ก่อนว่าเป็นบางพื้นที่เท่าที่เคยได้พบเห็นมา แต่กลุ่มหรือกองคนในอินเดียที่เราพบเห็นนั้นมีอีกมากมายที่เราจะเห็นได้เป็นประจำ จากการทะเลาะกันบ้างก็จะพากันมามุงดู หรือแม้แต่เห็นคนต่างชาติกำลังพูดคุยกับชาวอินเดีย เขาก็จะสนใจเข้ามาร่วมฟังด้วย ยิ่งคุยได้อรรถรสแล้วละก้อ ไม่ต้องห่วงว่าจะมีเพียงสิบ นับได้บางครั้งครึ่งร้อยเลยก็มี เพราะชาวอินเดียโดยส่วนมากเป็นคนมีลักษณะชอบการแสดงออก และอยากรู้อยากเห็น จึงทำให้ประเทศอินเดียมีนักปราชญ์มากมายตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน
ประเภทที่สี่ กองฟาง สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่หลากหลายของชาวอินเดีย เพราะว่าอินเดียเป็นอู่อารยธรรมที่เก่าแก่อีกประเทศหนึ่งที่ทุกท่านจะปฏิเสธไม่ได้เลย เรื่องของกองฟางก็เช่นกัน หลังฤดูกาลหลังการเก็บเกี่ยวของชาวบ้าน เมื่อว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ชาวบ้านก็จะนำฟางข้าวและใบอ้อย ที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวมาไว้ที่บ้านเพื่อนำไปมุงหลังคาบ้านเรือน หลังคายุ้งฉาง และคอกสัตว์ต่างๆ ที่สำคัญที่สุดฟางข้าวที่เกี่ยวเอามาเก็บไว้เป็นกองๆ หน้าบ้านนั้น เขายังเอามาสับให้ละเอียดผสมกับน้ำตาล และก็หญ้าเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัวและควาย เป็นต้น บางคนก็นำมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อต่อไป
ประเภทที่ห้า กองมูล หลายท่านเมื่อเดินทางมาประเทศอินเดียเมื่อได้มีโอกาสเดินทางแต่เช้าตรู่ก็จะพบเห็นสิ่งที่น่าตกใจ และตื่นเต้นใจกับภาพสองข้างทาง คือการนั่งถ่ายอุจจาระริมถนน และกลางทุ่งนา จะพบเห็นได้มากเฉพาะเวลาพบค่ำ และเวลาเช้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกท่านรู้กันดีอยู่แล้วก่อนจะเดินทางมาอินเดีย แต่เรื่องกองมูลที่จะนำมากล่าวนี้ไม่ได้หมายถึงมูลอุจจาระ หากแต่เป็นมูลของสัตว์เพราะผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และมีประโยชน์ต่อการเลี้ยงชีพโดยเฉพาะชาวเกษตรกร
“กี่เช้าที่เราตื่น กี่คืนที่เราฝัน กี่วันแห่งชีวิตใครลิขิตใครเขียน ช่างเหมือนดังเทียนเล่มน้อย” เห็นแล้วน่าเพลิดเพลินใจ เด็กน้อยๆ หิ้วภาชนะใส่ของเดินตามท้องนา และริมทาง แสวงหาสิ่งของบางอย่างด้วยความสนุกตามประสาเด็ก ร้องเพลงกันบ้าง วิ่งแข่งกันบ้างเห็นแล้วน่าอิจฉาจัง เพียงแค่หวังจะได้มูลสัตว์ไปเอาไว้ที่บ้าน เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง สิ่งที่จะกล่าวนี้เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เมื่อว่างเว้นจากการเรียน การทำงาน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะออกนอกบ้านเพื่อหาสิ่งของ หาผัก ผลไม้ มาไว้กินมื้อต่อไป แต่บางคนก็หิ้วภาชนะใส่ของเดินเก็บมูลวัว มูลควายตามทุ่งนา เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหารกิน คือแม่บ้านชาวอินเดียเมื่อว่างเว้นจากภารกิจต่างๆ ก็จะนำมูลสัตว์ที่เก็บมาได้แต่ละวัน มาคลุกเคล้ากับแกลบ รำ และฟางข้าว ใส่น้ำเล็กน้อย แล้วปั้นให้ก้อน ตากแดดให้แห้ง เท่านี้ก็สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง ทดแทนถ่ายที่ราคาแพงได้ เมื่อนำมาติดไฟจะไม่ควันและติดไฟนานด้วย เห็นไหมล่ะ น่าสนใจอย่างมาก แล้วเราจะเห็นได้บริเวณหน้าบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนเลยทีเดียว จะยกเว้นก็เพียงแต่ในตัวเมืองเท่านั้นเอง
นี่แหละเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ผู้เขียนอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่สนใจ เป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องลงทุนมาก แต่ให้ผลเกินคาด เป็นวิถีชีวิตที่ยังเหลือให้เราได้เห็น ที่รอคอยให้ทุกท่านได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง.

Comments :

0 ความคิดเห็น to “ห้ามุมมอง สองข้างทางอินเดีย”

แสดงความคิดเห็น

 

ผู้ติดตาม

ออนไลน์หน้านี้

free counters