องค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ ทรงมีพระนามว่า เท็นซิน กยัตโช (Tenzin Gyatso) ประสูติเมื่อวันที่ ๒ กรฎาคม ๒๔๗๘ อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของพระองค์ที่ชาวโลกรู้จักและคงจะหาไม่พบในพระภิกษุรูปอื่นนั่นก็คือ พระองค์ทรงเป็นผู้นำทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักรของชาวธิเบต (the Head of the State and the Spiritual Leader of the Tibetan people) พระองค์ทรงเป็นพระกษัตริย์หรือกษัตริย์พระของชาวธิเบต (His Holiness is the God-King of the Tibetan people.)
เมื่อองค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ มรณภาพ กาลต่อมาพระลามะชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้เสาะแสวงหาเด็กน้อยที่เป็นองค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ กลับชาติมาเกิดทั่วสารทิศของธิเบต คณะผู้แสวงหาเหล่านั้นได้พบเด็กน้อยนามว่า ลาโม ธอนดุบ (Lhamo Dhondup) ณ หมู่บ้านตักเชอร์ (Taktser) จังหวัดอัมโด (Amdo) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของธิเบต ขณะที่ค้นพบเด็กน้อยมีอายุเพียง ๒ ขวบ พระลามะชั้นผู้ใหญ่ได้ทดสอบตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาจนมั่นใจว่า เด็กน้อยคนดังกล่าวเป็นองค์ทะไล ลามะที่๑๓ กลับชาติมาเกิด หนึ่งในกรรมวิธีการพิสูจน์ก็คือ การนำพระบริขารขององค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ มาปนกับบริขารที่มิใช่ขององค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ เพื่อให้เด็กน้อยได้เลือก ปรากฏว่าเด็กน้อยนามว่า ลาโม ธอนดุบเลือกพระบริขารขององค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ ได้ถูกต้องทุกประการ
ตุลาคม ๒๔๘๒ ขณะมีอายุได้เพียง ๔ ขวบ เด็กน้อยนามว่า ลาโม ธอนดุบ ได้รับการนำเข้าไปอบรมเลี้ยงดูที่พระราชวังโปตาลา (Potala Palace) ณ กรุงลาซา (Lhasa) เพื่อเตรียมความพร้อมขึ้นสู่บัลลังก์แห่งความเป็นองค์ทะไล ลามะ องค์พระประมุขของชาวธิเบต และวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๓ รัฐบาลธิเบตได้จัดพิธีสถาปนาองค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ อย่างสมพระเกียรติ ณ กรุงลาซาเมืองหลวงของธิเบต (The enthronement ceremony took place on February 22, 1940 in Lhasa, the capital of Tibet.) ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๕ พรรษา และในวันพิธีสถาปนาได้มีการเปลี่ยนพระนามจาก ลาโม ธอนดุบ เป็น Jetsun Jamphel Ngawang Lobsang Yeshe Tenzin Gyatso (Holy Lord, Gentle Glory, Compassionate, Defender of the Faith, Ocean of Wisdom)
ปี ๒๔๙๒ พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ในปีนั้นกองกำลังทหารคอมมิวนิสต์จากประเทศเพื่อนบ้านคือจีนได้เริ่มเข้ารุกรานธิเบตเพื่อหวังยึดครอง ชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศทั่วทุกตารางนิ้วของธิเบตต่างออกมาต่อสู้และขับไล่กองกำลังทหารที่เข้ามารุกราน แต่ก็มิสามารถหยุดยั้งกองกำลังทหารจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ นายที่ชำนาญยุทธวิธีได้ ลุถึงปี ๒๔๙๓ ขณะนั้นองค์ทะไล ลามะทรงมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา การต่อสู้ระหว่างชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศกับกองกำลังทหารจีนที่เข้ามารุกรานก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อเหตุการณ์ยังดำเนินไปเช่นนี้รัฐบาลธิเบตและชาวธิเบตได้พร้อมใจกันขอให้องค์ทะไล ลามะทรงรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลธิเบต วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เป็นวันที่พระองค์ทรงรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลธิเบต นับเป็นพระภารกิจที่ใหญ่หลวงนักของผู้นำประเทศที่มีพระชนมายุเพียงแค่ ๑๕ พรรษาที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบในยามที่ประเทศเกิดความเดือนร้อนอันเนื่องมาจากการรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านที่มีกองกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่า อนึ่ง เนื่องจากธิเบตเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ และชาวธิเบตเองทุกย่อมหญ้าต่างออกมาต่อสู้กับกองกำลังทหารที่เข้ามารุกรานประเทศของตนเองอย่างมิหวาดหวั่นพรั่นพรึง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่กองกำลังทหารจีนจะยึดครองธิเบตได้ในระยะเวลาอันสั้น ลุถึงปี ๒๔๙๗ องค์ทะไล ลามะได้ทรงเดินทางไปกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีนเพื่อเจรจาสันติภาพกับเหมา เจ๋อตุง และผู้นำคนสำคัญอื่นๆของจีน ผลการเจรจาสันติภาพไม่บรรลุข้อตกลงตามที่พระองค์ทรงหวังไว้ การต่อสู้ระหว่างพระภิกษุธิเบตพระภิกษุณีธิเบตและชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศกับกองกำลังทหารจีนที่เข้ามารุกรานไม่มีท่าทีจะยุติลง นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๒ ชาวธิเบตได้ลุกฮือรวมตัวกันเป็นจำนวนมหาศาล ณ กรุงลาซาอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ธิเบตเพื่อต่อสู้ขับไล่ให้มีการถอนกองกำลังทหารจีนออกจากธิเบตเพื่อปลดปล่อยให้ธิเบตเป็นอิสระ และคงเป็นเพราะคำว่าสงครามมักไม่มีคำว่า ปรานี การออกมาต่อสู้อย่างหาญกล้าของชาวธิเบตจึงถูกกองกำลังทหารจีนเข้าปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ชาวธิเบตเป็นจำนวนมากต้องมาจบชีวิตลงด้วยน้ำมือแห่งความอำมหิตของผู้ที่เข้ามารุกราน เมื่อเหตุการณ์ยังนองเลือดอยู่เช่นนี้พระลามะชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ปรึกษากันและได้ขอให้องค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย วันที่องค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยคือ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๒ พระองค์ทรงต้องเปลื้องไตรจีวรออกและทรงสวมชุดคล้ายทหารแทนเพื่อป้องกันความโชคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ต้องเจอกองกำลังทหารจีนระหว่างทาง ทั้งนี้เพราะว่าชุดไตรจีวรย่อมเป็นจุดเด่นกว่าชุดเสื้อผ้าทั่วๆไป ความรู้สึกของพระองค์หรือใครก็ตามที่ต้องลี้ภัยออกจากประเทศอันเป็นที่รักห่วงแหนยิ่งของตนเช่นนี้คงยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดให้เข้าใจถึงความรู้สึกได้ พระองค์ทรงลี้ภัยพร้อมด้วยคณะผู้ติดตามจำนวนหนึ่งที่พร้อมทำหน้าที่อารักขาความปลอดภัยผู้นำอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของตนเอง พระองค์ทรงเดินทางประมาณ ๒ สัปดาห์จึงลุถึงพรมแดนอินเดียอย่างปลอดภัย
วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๐๒ เป็นวันที่พระองค์ทรงเดินทางลี้ภัยถึงพรมแดนอินเดีย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการเคารพอธิปไตยของอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกันหรือประเทศเพื่อนบ้าน พระองค์ได้ทรงตัวแทนไปเจรจาขอลี้ภัยกับ ฯพณฯ ยวาลหะลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้น และฯพณฯ ยวาลหะลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียก็มีความเต็มใจให้พระองค์ทรงลี้ภัยในประเทศอินเดีย เมื่อองค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยในประเทศอินเดียได้ไม่นาน ต่อมาชาวธิเบตประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คนได้ลี้ภัยตามผู้นำของตนเองและเพื่อหนีการคุกคามรุกรานของกองกำลังทหารจีน ในปีแรกแห่งการทรงลี้ภัยคือปี ๒๕๐๒ องค์ทะไล ลามะได้ทรงเดินทางไปสหประชาชาติเพื่อเรียกร้องเสรีภาพคืนให้กับธิเบต และได้ทรงเดินทางไปสหประชาชาติอีกในปี ๒๕๐๔ และ๒๕๐๘ ปัจจุบันธิเบตยังถูกจีนยึดครองน่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่า สหประชาชาติให้ความสำคัญกับปัญหาธิเบตมากน้อยเพียงใด และอาจเป็นเพราะว่าจีนเป็นหนึ่งในเจ็ดประเทศมหาอำนาจของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ อนึ่ง องค์ทะไล ลามะได้เคยตรัสว่า “นานาประเทศให้ความสนใจกับปัญหาธิเบตน้อยมากทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าธิเบตมิมีน้ำมันเหมือนคูเวต” (Tibet receives little attention from the rest of the world. Tibet is not like Kuwait. Kuwait has oil.) อย่างไรก็ตาม องค์ทะไล ลามะมิเคยสิ้นหวังกับการเรียกร้องเสรีภาพอย่างสันติวิธี การประชุมสิทธิมนุษยชนที่กรุงวอชิงตันดีซีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๐ พระองค์ทรงเสนอแผนสันติภาพ ๕ ประการ (The Five Point Peace Plan) เพื่อให้มีการแก้ปัญหาธิเบตถูกยึดครองอย่างเป็นรูปธรรม สาระสำคัญของแผนดังกล่าวคือ
๑. ให้ถือว่าธิเบตเขตสันติภาพ
๒. ระงับนโยบายการอพยพพี่น้องชาวจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในธิเบตซึ่งเป็นการเบียดเบียนชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศ
๓. เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและประชาธิปไตยของชาวธิเบต
๔. อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของธิเบต และงดเว้นการใช้พื้นที่ธิเบตเป็นที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์หรือทิ้งกากอาวุธนิวเคลียร์
๕. มีการเจรจาสถานภาพในอนาคตของธิเบตและความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ธิเบตอย่างเป็นทางการ
องค์ทะไล ลามะ ทรงเรียกร้องเสรีภาพคืนให้กับธิเบตอย่างมิเคยย่อท้อหรือสิ้นหวัง ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงตระหนักถึงพระภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องทรงรีบทำไปพร้อม ๆ กับการเรียกร้องเสรีภาพ ก็คือ การดำรงประชากรธิเบตพลัดถิ่นและประเพณีวัฒนธรรมธิเบตให้คงอยู่ ฉะนั้น จึงได้มีการก่อสร้างวัดวาอารามกว่า ๒๐๐ วัดทั่วอินเดียที่มีชาวธิเบตพลัดถิ่นอาศัยอยู่เพื่ออนุรักษ์คำสอนทางพระพุทธศาสนาแบบธิเบตซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของวิถีชีวิตแบบธิเบต มีการก่อสร้างโรงเรียนเพื่อให้ลูกหลานชาวธิเบตได้มีความรู้ภาษา ประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมของตนเอง มีการจัดตั้งสถาบันนาฏศิลป์ธิเบต (Tibetan Institute of Performing Art) และสร้างมหาวิทยาลัยธิเบต คือ Central Institute of Tibetan Higher Studies เพื่อลูกหลานชาวธิเบต และที่อดภาคภูมิใจแทนไม่ได้นั้นก็คือ ชาวธิเบตแม้พลัดถิ่นแต่ก็ยังเคร่งครัดมั่นคงในพระพุทธศาสนาที่ตนเองนับถือ และดำรงวิถีชีวิตตามแบบฉบับของตนเองไว้ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่งนัก เสมือนหนึ่งบอกให้ทราบว่า แม้พลัดถิ่นแต่ก็ไม่มีใครหน้าไหน ไม่ว่าหน้าอินทร์หรือหน้าพรหมจะพลัดพรากพระพุทธศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมไปจากฉันได้ นอกจากตัวฉันเท่านั้น ความข้อนี้ผู้ที่ได้มานมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียและได้พบพุทธศาสนิกชนชาวธิเบตน่าจะเข้าใจได้ชัด
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานแห่งการพลัดถิ่น องค์ทะไล ลามะองค์พระประมุขของชาวธิเบตได้ทรงเดินทางไปต่างประเทศกว่า ๕๒ ประเทศ และได้ทรงเดินทางมาประเทศไทย ๓ ครั้ง คือในปี ๒๕๑๐, ๒๕๑๕, ๒๕๓๖ พระองค์ทรงเดินทางไปต่างประเทศเพื่อบรรยายธรรม และที่พระองค์ทรงเน้นมาก ก็คือ สันติภาพ เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีผลงานที่โดดเด่นและทรงมีจุดยืนที่ชัดเจนในด้านสันติภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอนุรักษ์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆได้ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และรางวัลด้านสันติภาพหรือสิทธิมนุษยชนแด่พระองค์ทรงกว่า ๕๐ รางวัล ล้วนแต่เป็นรางวัลระดับนานาชาติ และที่ชาวโลกรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้นก็เมื่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลได้มีมติถวาย รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แด่พระองค์ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๓ เป็นวันที่พระองค์ทรงรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นานาประเทศล้วนเผยแพร่ข่าวอันเป็นมงคลยกเว้นประเทศเดียวคือ ประเทศที่รุกรานและยึดครองธิเบต นอกจากนี้ องค์ทะไล ลามะทรงมีผลงานด้านพระนิพนธ์มากกว่า ๕๐ เล่ม อาทิ The Art of Happiness; The World of Tibetan Buddhism; Violence and Compassion; Love, Kindness and Universal Responsibility; Cultivating a Daily Meditation; My Land and My People; Dalai Lama’ Little Book of Wisdom เป็นต้น
พูดถึงความเคารพศรัทธาของชาวธิเบตที่มีต่อองค์ทะไล ลามะผู้นำของตนเองตามที่ผู้เขียนได้สัมผัสเป็นระยะเวลา ๑ เดือนกว่า (๒๘ พ.ค. ๔๙- ๓ ก.ค. ๔๙) ณ เมืองดาร์จีลิ่ง และบ่อยครั้งที่ได้สนทนากับนักศึกษาธิเบต ณ Central Institute of Tibetan Higher Studies ซึ่งตั้งอยู่ที่สารนาถสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ความเคารพศรัทธาที่ชาวธิเบตมีต่อผู้นำของตนเองนั้นมีมากมายแค่ไหน คำตอบคือ ชาวธิเบตเป็นผู้ที่ศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา องค์ทะไล ลามะทรงเป็นผู้นำทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักร ความเคารพศรัทธาของชาวธิเบตต่อผู้นำของตนเองย่อมมีเป็นทวีคูณ และอาจกล่าวได้ว่าคงไม่น้อยกว่าชาติใดในโลก เพราะโดยทั่วไปคนเราไม่ว่าชาติใดย่อมมีความเคารพศรัทธาต่อผู้นำของตนเองเป็นพื้นฐาน อนึ่ง บทเพลงธิเบตที่ถอดความเป็นภาษาอังกฤษ (a rough translation) คงเป็นตัวอย่างแห่งความเคารพศรัทธาที่ชาวธิเบตมีต่อองค์ทะไล ลามะ ผู้นำของตนเองได้เป็นอย่างดี
But even if I have no food at all for a week
I will never forget the Dalai Lama’s kindness.
ปัจจุบัน (๒๕๕๐) องค์ทะไล ลามะทรงมีพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ทรงประทับอยู่ที่ธรรมศาลา (แม็คลอดกันจ์) ในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลธิเบตพลัดถิ่น (Tibetan Government-in-Exile) หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Central Tibetan Administration of H.H. the Dalai Lama (CTA) พระองค์ทรงงานอย่างหนักในฐานะผู้นำประเทศ และทรงเดินทางไปพบชาวธิเบตพลัดถิ่นพสกนิกรของพระองค์ทั่วอินเดียทุกปี อาทิ ที่พุทธคยา สารนาถ คานาร์ตะกะ เป็นต้น พระองค์ทรงเดินทางไปบรรยายธรรมต่างประเทศอยู่เนื่อง ๆ เพื่อสันติภาพของโลก
องค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยที่อินเดียเพื่อหวังเรียกร้องเสรีภาพคืนให้กับธิเบต และจักเสด็จกลับธิเบตเมื่อธิเบตได้เสรีภาพคืน ตั้งแต่วันที่ทรงลี้ภัยจวบจนปัจจุบันปี ๒๕๕๐ และเป็นปีที่ ๔๘ แห่งการทรงลี้ภัย พระองค์ยังไม่มีโอกาสเสด็จกลับธิเบตประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ องค์ทะไล ลามะจักได้เสด็จกลับธิเบตดินแดนแห่งมาตุภูมิหรือไม่ในอนาคต คำตอบนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันที่ชัดเจนและที่จะเป็นแบบอย่างแก่มวลมนุษยชาติก็คือ องค์ทะไล ลามะทรงเป็นบุคคลผู้มิเคยสิ้นหวัง พระองค์ได้ตรัสกับชาวธิเบตพสกนิกรของพระองค์ว่า มิว่าอะไรจะเกิดขึ้นจงอย่าสิ้นหวัง... (No matter what is going on, never give up…) พระองค์ทรงเป็นบุคคลสันติภาพของโลก (His Holiness is a man of peace.) พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวตะวันตกอันเนื่องมาจากที่พระองค์ทรงเดินทางไปแสดงธรรมแก่ชาวตะวันตก และพระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของชาวธิเบต...
ความดีของบทความนี้ ผู้เขียนขอถวายแด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระเท็นซิน กยัตโช องค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ พระองค์ทรงทำงานอย่างหนักเพื่อชาวธิเบตและเพื่อสันติภาพของโลก ขอถวายแด่ กองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาทวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นกองทุนที่บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งโดยมี พระเดชพระคุณพระเทพญาณวิศิษฎ์ เป็นประธาน พระเดชพระคุณพระศรีญาณโสภณ เป็นรองประธานตลอดจนถึงคณะกรรมการและผู้ที่มีส่วนร่วมทุกท่าน ขอมอบความดีนี้แก่ คุณโยมกัลยา เนื่องจำนงค์ แห่งกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาทวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกที่ได้มีส่วนอุปถัมภ์การศึกษาของผู้เขียน และขอมอบแก่ญาติโยมคณะ A.I.A. มายด์ วาเคชั่น ธรรมจารีทัวร์ ศรัทธาทัวร์ สุทธิธรรมทัวร์ เอ็นซีทัวร์ ญาติโยมทุกท่านที่มาเยี่ยมพระนักศึกษาที่หอสิทธารถวิหาร ตลอดจนถึงขอมอบแก่ ชาวธิเบตที่ต้องพลัดพรากจากบุพการี ญาติพี่น้อง บุคคลอันเป็นที่รัก และดินแดนมาตุภูมิอันเป็นที่รักยิ่ง แต่ก็ยังดำรงวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
พระประวัติองค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ โดยสังเขป
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี, วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Comments :
แสดงความคิดเห็น