ป. ธงชัย: เขียน
คำว่า มะเร็งไม่ว่าเกิดที่ไหน ส่วนไหน ที่อวัยวะใด ก็ล้วนไม่มีมนุษย์คนไหนต้องการทั้งนั้น เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่ทำลายชีวิตให้สั้นลงไป เป็นความทุกข์ของผู้ที่ประสบ ไม่ทรมานน้อยก็ต้องทรมานมาก แต่สรุปว่าต้องทรมานและเสียชีวิตลงในที่สุด แต่ทว่ามะเร็งที่ว่านี้ ก็เพียงแต่กัดกินส่วนต่างๆของร่างกายมนุษย์เท่านั้น และก็ไม่ลามไปหาคนอื่นๆที่อยู่ข้างๆ หรือสังคม แต่ที่ผู้เขียนเสนอในตอนนี้ก็คือมะเร็งสังคม มะเร็งชนิดที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่กัดแทะเนื้อเยื่อชั้นในและชั้นนอกของมนุษย์เท่านั้น ก็ยังแพร่ไปหาคนอื่น พร้อมทั้งยังทำลายสังคม คนรอบข้างให้เสียหายไปด้วย ถือว่ามะเร็งชนิดนี้รุนแรงกว่าหลายเท่าก็ว่าได้
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างมาไม่ให้อยู่คนเดียว แต่เกิดมาให้อยู่ร่วมด้วยกันเป็นสังคม จำต้องมีการคบหาสมาคมอยู่ร่วมกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีผู้ใดเลยที่จะเลือกเกิดได้แบบครบครันพร้อมสรรพทุกอย่าง บางคนเกิดมาก็ยากจนตั้งแต่แรกเกิด ไม่มีแม้แต่ข้าวปลาอาหารที่จะบรรเทาความหิว ไม่มีแม้แต่ชายคาที่คอยป้องกันเปลวแดดอันร้อนแรงและสายฝนที่กระหน่ำลงมา รวมทั้งความหนาวเหน็บเยือกเย็นในยามหลับนอนได้ แต่ขณะที่บางคนนั้นเกิดมาก็รวยเป็นถึงมหาเศรษฐีผู้มีพร้อมสรรพทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้แม้จะแตกต่างกันราวฟ้ากับดินในขณะมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือ ความตาย สิ่งที่ไม่มีใครต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครผัดผ่อนหรือหลีกเลี่ยงไปได้แม้แต่คนเดียว แม้จะจนหรือรวย ต่างชั้นวรรณะ ต่างศาสนา แต่สิ่งที่เสมอภาคกันนั่นก็คือความเป็นมนุษย์ และมีรอยต่อของความแตกต่างเหล่านั้นเข้าหากันนั่นก็คือ ความเกื้อหนุนกัน ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็งสังคมได้ดีขนานหนึ่ง
ความเจริญรุ่งเรืองหรือการพัฒนาสังคมนั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ในสังคมนั้นๆร่วมมือร่วมใจกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัวมากเกินไป
ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ได้ตรัสเครื่องสงเคราะห์กันและกันหรือที่เรียกว่า สังคหวัตถุ มี ๔ ประการ คือ
ทาน คือการแบ่งปันของให้คนอื่น
ปิยวาจา คือถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน น่าฟัง
อัตถจริยา คือประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ช่วยเหลือประโยชน์คนอื่น หรือสังคม
และสุดท้าย สมานัตตตา คือสม่ำเสมอ ไม่ถือตัว
ทั้งสี่อย่างที่กล่าวมานี้ เป็นธรรมเกื้อกูลกันในสังคมเป็นยาต้านมะเร็งขนานแท้ป้องกันไม่ให้เกิดในสังคมใดสังคมหนึ่ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากจนเกินไป ซึ่งถ้านำมาปฏิบัติได้ มะเร็งชนิดไหนก็ไม่สามารถที่จะกล้ำกรายเข้ามาในชีวิต และสังคมนั้นๆ ได้เลย.
มะเร็งสังคม
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี, วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Comments :
แสดงความคิดเห็น