อินเดีย คำ ๆ นี้หากใครได้ยินแล้ว ก็มักจะนึกถึงคำว่า “มนต์ขลังแห่งอินเดีย” จึงทำให้หลายต่อหลายคน ต่างวาดฝัน อยากจะมาพบกับ มนต์ขลังบนผืนดินถิ่นฮินดูแห่งนี้ นั่นเพราะอินเดีย เป็นดินแดนแห่งความลึกลับ ที่แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ บางคนมาแล้วไม่อยากกลับ บางท่านกลับไปแล้วอยากมาอีก ให้มากครั้งที่สุด เท่าที่จะมีเวลามาได้
ชาวอินเดีย มีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นปึกแผ่น ยากยิ่งนักที่ชาวต่างชาติจะเข้าถึงและจะคงอยู่คู่กับพวกเขาไปตราบนานเท่านาน แม้แต่ประเทศมหาอำนาจบางประเทศเองก็ตามที ก็ไม่สามารถที่จะครอบครองวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของอินเดียไปได้ เพราะอินเดียเป็นดินแดนแห่งมหาอาณาจักรที่รวบรวม ซึ่งความหลากหลาย ทั้งทันสมัย ล้าสมัย เก่า ใหม่ ให้รวมอยู่ด้วยกันอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
แล้วอะไรหล่ะ ที่เป็นมนต์เสน่ห์ ที่ทำให้ผู้คนต่างหลงใหล.....
ผู้หญิงอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งที่รักษาประเพณี วัฒนธรรมของบรรพบุรุษของตนไว้ได้ อย่างมั่นคงและภาคภูมิ ทั้งสาวน้อย สาวใหญ่ของอินเดียในอดีต รู้จักแต่งตัว ใช้เครื่องประดับ ตามยุคตามสมัย เท่าที่จะมีกำลังหามาได้ ซึ่งแสดงถึงฐานะและชั้นวรรณะของแต่ละคน ปัจจุบันหญิงสาวอินเดียมีการพัฒนาขึ้น ซึ่งจะอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ถึงกับฟู่ฟ่าจนเกินไป เรียกว่ามีความทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังคงความเป็นอินเดีย ที่แฝงด้วยมนต์เสน่ห์อย่างเหนียวแน่นไว้ไม่จือจาง
ในคัมภีร์พระเวทภาษาสันสกฤต ซึ่งถือว่าเป็นภาษาโบราณของอินเดีย ได้กล่าวไว้ สำหรับหญิงสาวอินเดีย ที่จะต้องใช้เครื่องประดับ ๑๖ อย่าง ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของหญิงสาวอินเดีย เครื่องประดับ ๑๖ อย่างเหล่านี้ ประกอบด้วย
ข้อมือ, ตุ้มหู, ดอกไม้ประดับผม, กำไล, แหวน, กำไลแขน-ปลอกแขน, ผ้ารัดเอว, กำไลเท้า, ผงทาตาหรือคิ้วที่ทำให้ดำ, แหวนสวมนิ้วเท้า, สีย้อมมือย้อมเท้า (นิยมสีแดง), น้ำหอม, แป้งผสมกลิ่นจันทร์, เครื่องนุ่งห่มบนล่าง, ส่าหรี, และกาจัล ฯลฯ
กาจัล (kajaan) เป็นหนึ่งใน ๑๖ อย่าง ที่เราไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไรนัก คนอินเดียเขาจะใช้กาจัลทาแก้ปวดเมื่อย โดยเฉพาะจะทารอบ ๆ ดวงตา จนกระทั่งนัยน์ตา คนอินเดียเขาจะมีความเชื่อว่า เมื่อทากาจัลแล้วจะทำให้นัยน์ตามีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่เป็นโรคตาได้ง่าย ที่พิเศษไปกว่านั้น จะทำให้มีพลังบางอย่างแฝงอยู่ที่นัยน์ตา เรามักจะเห็นคนอินเดียส่วนใหญ่ มีขอบตาดำ ๆ นั่นไม่ใช่เพราะนอนดึก หรือทำงานหนัก แต่เป็นเพราะคนอินเดีย เขาใช้กาจัลมาตั้งแต่เด็กเล็ก พอโตขึ้นขอบตาเลยดูคล้ำ ๆ แต่เวลาที่เรามองดูแล้ว เหมือนจะมีพลังบางอย่างแฝงอยู่จริง คนอินเดียเขามีกระบวนการทำกาจัล ซึ่งจะมีขั้นตอน ที่ละเอียดพอสมควร โดยจะเริ่มจากการนำมะพร้าวมาเผาจนเป็นสีดำ ใส่ส่วนประกอบบางอย่างมีเนยเป็นต้น เสร็จแล้วนั่นจึงเรียกวากาจัล คนอินเดียถือว่ากาจัล เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ล้ำค่าและหวงแหนมาก ยากนักที่เผยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงกรรมวิธีของการทำกาจัล ปัจจุบัน kajaan มีขายตามร้านทั่วไป มีทั้งตลับเล็กและตลับใหญ่
หญิงสาวอินเดียนั้น จะนำกาจัลมาใช้เป็นเครื่องสำอาง โดยจะใช้ทาคิ้วหรือขนตา ทำให้ดูดำขลับสวยงาม มีมนต์เสน่ห์ อย่างที่เราเคยได้ยินคำว่า “ผิวพม่านัยน์ตาแขก” กาจัลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หญิงสาวชาวอินเดีย มีนัยน์ตาที่ดูแล้ว มีมนต์เสน่ห์ ไม่แพ้ชาติไหน ๆ เลยทีเดียว และในขณะเดียวกัน กาจัล จึงเป็นทั้งสมุนไพร เป็นทั้งเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ล้ำค่าของชาวอินเดียมาช้านาน
หญิงสาวอินเดีย เวลาแต่งตัว ก็มักจะมีเครื่องประดับ ๑๖ อย่างนี้เสมอ โดยเฉพาะเวลาเต้นรำ สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือกาจัล เพราะมีความเชื่อว่า จะทำให้นัยน์ตามีพลัง ทำให้ต้องมนต์เสน่ห์ของตน เพราะคนอินเดียมีท่วงท่าการเต้นรำที่หลากหลาย รูปแบบของการเต้นรำของอินเดียเป็นแบบคลาสสิคเฉพาะของชาวอินเดีย จึงเรียกการเต้นรำนั้นว่า “นริตต้า”
นริตต้า เป็นต้นกำเนิดของชื่อการเต้นรำของอินเดีย ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นส่วนย่อยได้อีกมาก เช่น การเต้นรำแบบนาฏยะ นาฏยะ คือส่วนย่อยของนริตต้า ซึ่งเกิดขึ้นภายในอินเดีย มานานกว่า ๕๐๐ ปี พร้อม ๆ กับกาจัล ที่เป็นเสมือนว่าจะต้องเป็นของคู่กัน การเต้นรำแบบ นริตต้า ของหญิงสาวอินเดีย จะมีพื้นฐานการเต้นรำอยู่ ๔ อย่าง พื้นฐาน ๔ อย่างที่ว่า คือ ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยจะรวมเข้าในท่วงท่าที่เต้นรำทั้งหมด หญิงสาวอินเดีย เวลาเต้นรำ เขาจะมีพลังบางอย่าง ที่แฝงอยู่ในตัวและท่วงทำนองการเต้น จึงทำให้มีมนต์เสน่ห์ ที่แฝงด้วย พลังแห่งธาตุทั้ง ๔ ที่กลมกลืนกับเครื่องประดับ ทั้ง ๑๖ อย่าง เหมือนกับต้องมนต์เสน่ห์ ให้เพลิดเพลินกับการได้สัมผัส กับกลิ่นอายของดินแดนแห่งนี้
อินเดีย เป็นดินแดนแห่งความลึกลับ เป็นดินแดนที่มีมนต์ขลัง จึงไม่แปลกเลยที่หลาย ๆ คน ต่างวาดฝัน อยากจะมาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของอินเดีย ที่ทำให้ทั่วทักทวีปต่างหลงใหล กับการได้สัมผัสกับกลิ่นอายของดินแดนแห่งนี้ และต่างวาดฝันไปต่าง ๆ นานา ที่จะได้สัมผัสเข้าสักวันหนึ่ง
นั่นคือมนต์เสน่ห์ของอินเดีย หญิงสาว นริตต้า กาจัล.....
นริตต้า กาจัล
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี, วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Comments :
แสดงความคิดเห็น