.

.
"สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข"
ข่าวประชาสัมพันธ์



ขอประกาศเลิกอัฟเดทข้อมูลที่Blogแห่งนี้
สามารถเข้าไปใช้งาน website อย่างเป็นทางการได้ที่
http://www.tsa-bhu.org/


ข่าวเด่น

* ขอแสดงความยินดีแด่.. พระครูใบฎีกา ดร. มานิตย์ เขมคุตโต , พระมหา ดร. ธีรชัย ปุญฺญชีโว , พระ ดร. ราเชนทร์ วิสารโท ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ B.H.U. ในปี ๒๕๕๓






* สมาคมพระนักศึกษาไทย มหาววิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันลงอุโบสถ ที่วัดไทยสารนาถ พร้อมเจริญพระพุทธมนต์ ณ ธัมเมกขสถูป เนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์





สมาคมพระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสีได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ "๑๓ เมษา เสนคุปต้ามหาสงกรานต์" ประจำปี ๒๕๕๓ ณ หอเสนฯ โดยมีคณาจารย์ทางมหาลัย และต่างชาติเข้าร่วมนับร้อยชีวิต ในวันที่ ๑๓ เมษายน ที่ผ่านมา





* พระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันจัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ (๕ ธันวามหาราช) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล





* ๕ ธันวามหาราช ขอเชิญร่วมถวายภัตตาหารเพลพระนักศึกษาไทย และนานาชาติ จำนวน ๘๒ รูป และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรได้ที่ หอเสนคุปตลอล์จ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒





* กฐินสังฆประชาสามัคคี ณ หอเสนคุปตาลอจ์ด มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นำโดย พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


Dowry ( ดาว – อะ – หริ )

      2371218554_fc57df403d  

           คำว่า Dowry ไม่ได้หมายถึง สินสอด หรือ สินสมรสเพราะความหมายเดิมเกิดจากตระกูลราชบุตรที่เป็นนักรบในเมืองราชสถานเมื่อรบชนะข้าศึกก็จะได้เครื่องบรรณาการต่าง ๆ พร้อมทั้งได้หญิงสาวจากเมืองขึ้นมาครอบครอง และปัจจุบันแต่ละครอบครัวต้องแบ่งสมบัติให้ลูก ๆ โดยเฉพาะลูกสาวที่จะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชายหลังจากแต่งงานแล้ว สมบัติก้อนนี้ถือเป็นหน้าตาของครอบครัวฝ่ายหญิง เพื่อที่ลูกสาวตนจะได้ไม่เป็นภาระของครอบครัวฝ่ายชายมากเกินไป ที่สำคัญคล้ายจะบอกลูกสาวตน “มิได้มาอาศัยฝ่ายชายฝ่ายเดียวนะ”

.       

        จากความหมายที่ดีนี้ Dowry คือสมบัติของฝ่ายหญิงที่ได้มาจากครอบครัวของตนเพื่อจะไปมีครอบครัว มิได้หมายถึง “ค่าตัวเพื่อชื้อฝ่ายชาย” แต่อย่างใดเลย….

.       

        อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันครอบครัวของชาวอินเดียบางครอบครัวของฝ่ายชายได้เรียกร้องค่า Dowry มากมายตามที่ตนอยากจะได้บ่อยครั้งที่ต้องทำให้ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องล่มจมเป็นหนี้ล้นพ้นตัวก็มี

.      

        Dowry โดยความหมายจาก สอ เสถบุตร แปลว่า “ทรัพย์สินของฝ่ายหญิง” นี้คือความหมายที่แท้และดั้งเดิม แต่ท่านหลายคนเข้าใจว่า “ค่าสินสอด” มาใช้ผิดความหมาย เพราะ ค่าสินสอด หมายความว่า “ฝ่ายชายต้องมอบให้ฝ่ายหญิง”……….

.

Source : Siddharth Sarn Vol.13,  2009.

ตุลสี (The Sacred Tulsi)

ตุลสีคืออะไร? มีความเป็นมาอย่างไร? และการบูชาต้นตุลสีมีความเชื่อกันอย่างไร?

นี่เป็นอีกข้อสงสัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามมากมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยี่ยมเยือนประเทศอินเดียเราสามารถพบเห็นต้นตุลสีได้ทั่วไปในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นตามศาสนสถาน ห้างร้าน บ้านเรือน ตลาดขายผัก แม้กระทั่งบนรถเมล์ ตุลสี เป็นภาษาฮินดี หมายถึง พืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นฉุน ลำต้นมีความสูงโดยประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร คนไทยเรารู้จักกันในนาม ต้นกระเพรา นั่นเอง เมื่อยึดเอาตามหลักความเชื่อเป็นเกณฑ์ในการแบ่งชนิดของต้นตุลสี ชาวฮินดูก็แบ่งออกเป็นสองชนิด คือ รามตุลสี (Rama Tulsi) มีใบ และลำต้นขนาดใหญ่สีเขียวอ่อน เพราะพระรามมีการเป็นสีเหลืองหรือสีขาว อีกชนิด คือ กฤษณะตุลสี (Krishna Tulsi) มีใขและลำต้นสีม่วงเข้ม ขนาดเล็กกว่าชนิดแรก

ตำนานที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ปุราณ เกี่ยวกับที่มาของต้นตุลสี ได้เล่าไว้ดังนี้ พระวิษณุมีภรรยาอยู่สามคน คือ พระนางสรัสวตี พระนางลักษมี และพระนางคงคา อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงระหว่างพระสรัสวตีกับพระนางลักษมี พระนางสรัสวตีจึงได้สาปแช่งให้ พระนางลักษมีกลายเป็นต้นตุลสีไปเกิดอยู่บนโลกมนุษย์ตลอดกาล แต่ในขณะที่ทั้งสองทำเลาะวิวาทกันอยู่นั้นเอง พระวิษณุก็ทรงอยู่ ณ ที่นั้นด้วย จึงกล่าวกับพระนางลักษมีด้วยความเห็นใจว่า ลักษมีถึงแม้ว่าเจ้าจะกลายเป็นตุลสีไปบังเกิดยังโลกมนุษย์ก็ตาม เมื่อใดที่คำสาปหายไปเจ้าก็กลับคืนสู่สภาพเดิมและกลับมาอยู่กับข้าดังเดิม ระหว่างช่วงเวลาที่เจ้าบังเกิดเป็นต้นตุลสีอยู่ในโลกมนุษย์จะมีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่า คันธกี (The Gandaki River) ไหลออกมาจากร่างกายของเจ้าและบนฝั่งของแม่น้ำสายนี้เอง ข้าจะอยู่เคียงข้างเจ้าและจะจำแลงเป็นก้อนหิน ที่เรียกว่า สลกรมฺศิลา

จากเรื่องที่กล่าวมาแล้วนี้จึงทำให้ชาวฮินดูมีความเชื่ออย่างยิ่งเกี่ยวกับการสาปแช่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุคคลห้าประเภท อันได้แก่ นักบวช (สาธุ) แม่หม้าย คนพิการ ยาจก และสุดท้ายคือ ฮีจาร่า (บุคคลสองเพศ) ดังที่เราทั้งหลายได้พบเห็นกันตามรถไฟขบวนต่างๆ ถ้าบุคคลดังที่กล่าวมาแล้วนี้ได้สาปแช่งบุคคลใด ชาวอินเดียเชื่อว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้รับความเจริญและจะมีอันเป็นไปตามคำสาปแช่งนั้น

สำหรับชาวอินดูไวศวนิกาย (นับถือพระวิษณุ) ต้นตุลสีถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดและพิธีกรรมใดที่จัดขึ้นหากขอกตุลสีแล้วถือว่าพิธีกรรมนั้นไม่สมบูรณ์หรือไม่อาจจะจัดขึ้นได้ ตุลสีได้ถูกยอมรับนับถือกันทั่วไปในกลุ่มชาวฮินดูว่าเปรียบเสมือนหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปัดเป่าความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงและปกป้องพวกเขาจากเงื้อมมือของพระยายม หรือที่คนไทยเรียกว่าพระยามัจจุราช ชาวฮินดูยังเชื่ออีกว่าหากใครเผลอไปทำกิ่งหรือก้านของตุลสีหักถือเป็นบาปมหันต์เลยทีเดียว และเป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ในการบูชาตุลสีของแต่ละกลุ่มบุคคล การอธิษฐานขอพรและความเชื่อก็จะแตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าแม่หม้ายบูชาตุลสี พวกเขาก็จะเรียกว่าพรที่พวกเขาจะได้รับคือ จะพบกับความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงที่พวกเขาได้ประสบมาแล้ว หญิงสาวชาวฮินดูที่ยังไม่แต่งงานบูชาตุลสีก็ด้วยมีความเชื่อว่า พวกเขาจะพบได้เจอกับสามีที่ดีในอนาคต คู่สามีภรรยาบูชาตุลสีก็เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้บุตรชาย และเป็นบุตรที่ดีของพ่อแม่และญาติพี่น้อง และคนชราตายไปจะได้ไปบังเกิดยังสวรรคโลก นอกจากนี้แล้วตุลสียังถูกนำมาใช้ในการประกอบพิธีศพของวรรณะพราหมณ์ เมื่อครอบครัววรรณะพราหมณ์ครอบครัวใดมีคนกำลังจะตาย ญาติก็จะไปเชิญนักบวชมาประกอบพิธี โดยที่นักบวชจะนำเอาต้นตุลสีไปวางใกล้ๆ กับผู้ที่กำลังจะตาย หลังจากที่นักบวชได้ทำพิธีบูชาตุลสีแล้ว นักบวชก็จะนำเอาใบตุลสีวางไว้ที่ หน้า ตา หู และหน้าอกของผู้ที่จะตายและนักบวชก็จะนำเอาใบตุลสีไปจุ่มกับน้ำแล้วนำมาพรมตั้งแต่หัวไปจนถึงเท้าแล้วยื่นให้แก่ผู้ที่กำลังจะตาย ในขณะนั้นบรรดาเหล่าญาติก็จะตะโกนดังๆ ว่า ตุลสี ตุลสี และที่สำคัญคือถ้าหากว่าผู้ที่กำลังจะตายได้ดื่มน้ำตุลสี (ใบตุลสีผสมน้ำ) เมื่อตายไปแล้วก็จะได้ไปจุติยังดินแดนของพระวิษณุ (Vishnu Laka) และที่ขาดไม่ได้เลยคือฟืนที่นำมาเผาศพจะต้องประกอบด้วยไม้ ๓ ชนิด คือ ไม้ตุลสี ไม้จันทร์ ไม้ปะละสาค (Palasac Wood) หรือที่คนไทยเรารู้จักกันคือทองกวาวนั้นเอง จึงจะถือว่าพิธีฌาปนกิจศพสมบูรณ์

นอกจากนี้ตุลสียังมีสรรพคุณทางเภสัชอีกด้วย ใบตุลสีมีกลิ่นหอมสามารถเป็นยาแก้ไอ และรักษาโรคทางเดินหายใจได้อีกด้วย หรือทานหลังอาหารหนึ่งหรือสองใบจะช่วยย่อยอาหาร การทานใบตุลสีก่อนหรือหลังอาบน้ำเย็นจะช่วยรักษาอุณหภูมิในท้องให้เหมาะสมและช่วยป้องกันการปวดเมื่อยจากความหนาว

และอีกอย่างคือชาวฮินดูรู้จักวิธีการใช้ใบตุลสีเพื่อป้องกันการก่อตัวของเชื้อราและแบคทีเรีย โดยใส่ลงในน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภคได้อีกด้วย ดังนั้น ตุลสีจึงถือได้ว่าเป็นต้นไม้ที่ขาดเสียไม่ได้ในวิถีชีวิต และวิถีแห่งศาสนาของชาวฮินดู.

การบูชาพระอาทิตย์

ดวงอาทิตย์ส่องสว่างเฉพาะกลางวัน

ดวงจันทร์ส่องสว่างเฉพาะกลางคืน

กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้ว จึงสง่างาม

พราหมณ์เพ่งพินิจ จึงสง่างาม

แต่พระพุทธเจ้าทรงสง่างามด้วยพระเดช ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

การบูชาที่ยิ่งใหญ่ของชาวฮินดูที่เรารู้จักกันดี คงจะปฏิเสธไม่ได้กับการบูชาพระอาทิตย์ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นวิถีชีวิตยาวนานของชาวฮินดู มีการบูชาทั้งเวลาเย็นและเช้า ประชาชนจำนวนมากนำสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องบูชาสุริยะเทพ โดยมีความเชื่อว่าสุริยะเทพนนั้นเป็นผู้มีพระคุณในการให้แสงสว่างแห่งชีวิต ถ้าไม่มีแสงอาทิตย์แล้วก็จะไม่สามารถดำเนินชีวิตไปได้ พร้อมทั้งทำการบูชาแม่คงคา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลของตนเองและความเจริญรุ่งเรื่องแห่งชีวิต แต่ละครอบครัวจะจัดเตรียมสิ่งของเครื่องบูชาต่างๆ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว ส้มโอ และขนม เป็นต้น

ชาวฮินดูถือว่าสุริยะเทพนั้นเป็นผู้มีความสำคัญต่อชีวิต พร้อมทั้งให้แสงสว่างต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้นจึงได้มีการบูชาพระอาทิตย์เพื่อตอบแทนคุณและขอพร ส่วนสำหรับเราชาวพุทธ แสงสว่างแห่งปัญญาประเสริฐกว่าแสงสว่างอื่น เพราะว่าแสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้นส่องได้เฉพาะที่เท่านั้น แต่แสงสว่างแห่งปัญญานั้นสามารถที่จะสามารถส่องได้ทุกที่ สามารถที่จะนำตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติตนตามหลักคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยิ่งทำให้เรานั้นเป็นผู้ที่สมบูรณ์ดั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ แต่อย่างไรก็ตามเรามาดูประเพณีและความเชื่อ เพราะเป็นความเชื่อที่ให้ผลแก่จิตใจของชาวฮินดู โดยเฉพาะชาวเมืองพาราณสีแล้ว ถือว่าสำคัญต่อชีวิติมาก

ช่วงเวลาเย็นของทุกวัน ประชาชนจะทยอยพากันมาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ในมือถือเครื่องบูชาสักการะ บางคนก็เดินสวดมนต์มาตั้งแต่บ้านจนถึงแม่น้ำคงคา จากนั้นก็จะวางเครื่องบูชาไว้ มีการจุดธูปเทียน มีการไหว้พระแม่คงคา ผู้หญิงจะถือเครื่องบูชาและลงไปยืนนอยู่ในแม่น้ำแล้วสวดมนต์ พอเสร็จแล้วก็พากันเดินทางกลับบ้าน

แต่เช้าตรู่ของวันใหม่ ก็จะพากันไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาอีกรอบ สวดมนต์พร้อมตั้งจิตอธิษฐานจนกว่าพระอาทิตย์ขึ้น ในขณะที่พระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าก็จะพากันโห่ร้องบูชาสุริยะเทพ โอมสุริยะเทพ จากนั้นก็พากันลงอาบน้ำเพื่อล้างบาปในแม่น้ำคงคา ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระแม่คงคาและสุริยะเทพ เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองเหมือนแสงพระอาทิตย์ และครอบครัวอยู่ร่มเย็นเป็นสุขเหมือนแม่น้ำคงคา โดยเฉพาะหญิงสาวแล้วจะให้ความสำคัญในการบูชามากเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือว่าเป็นการไปประกาศตนต่อสุริยะเทพว่า ฉันเป็นสาวแล้วนะ สามารถที่จะทำอะไรได้ คือว่า สามารถที่จะแต่งงานได้ หรือทำงานต่างๆ ได้ และเป็นการล้างบาปตอนเป็นสาวพร้อมที่จะดำเนินชีวิตแบบสาวเต็มตัว อย่าว่าแต่สาวอินเดียเล้ย แม้สาวญี่ปุ่นบางคนก็ทำเหมือนกัน แต่ไม่มากนัก สงสัยอยากประกาศตนว่าเป็นสาวแล้ว อย่างสาวอินเดีย.....อิอิ

หลังจากอาบน้ำเสร็จ ก็จะเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าใหม่ที่นำมา คือว่า เปลี่ยนผ้าที่เป็นเด็กให้กลายเป็นสาวเต็มตัว ก็พากันเดินทางกลับบ้าน แล้วมีการฉลอง หรือนำอาหารต่างๆ และเครื่องบูชานั้นมากินเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และจะทำให้ชีวิติของตนพบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองในปีนั้น.

อารยวิถี

วันและเวลานั้นย่อมแปรเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของโลกและจักรวาลพร้อมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ ทำให้อายุของสิ่งต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้พบกับการเริ่มต้น และการก้าวสู่การสิ้นสุด เราอาจจะนับเวลาเป็นอายุ หรือนับเวลาเป็นขอบเขตของการก้าวสู่วันใหม่ การสิ้นสุดของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น เมื่อสิ้นกายนี้ก็แปรเปลี่ยนไปสู่กายอื่นตามสภาพปัจจัยเกื้อหนุนที่เรียกว่า กรรม การขับเคลื่อนของการสลัดร่างของสภาพจิตวิญญาณ ก็ไม่ต่างกับการที่เราถอดเสื้อเก่าที่คร่ำคร่าแล้วเปลี่ยนไปสวมเสื้อใหม่

ในวิจิตรแห่งอารยธรรมของจิตวิญญาณของโลกตะวันออกนั้น การขับเคลื่อนของการเปลี่ยนสภาพกาย-จิต ขึ้นอยู่กับการกระทำทางความดี-ความชั่ว เพราะผลห่อหุ้มจิตมิให้ผ่องใส ในกรรมกิเลสแห่งสิ่งไม่ดีย่อมไม่ต่างกับเมล็ดพันธุ์พืชที่ยังมียางหุ้มห่อเมล็ด เมื่อเมล็ดพันธุ์นั้นตกสู่ ณ ที่ใด เมล็ดพันธุ์นั้นย่อมเติบโตขึ้น และโคจรกลับสร้างวัฏจักรของการมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ในอารยวิถีแห่งผู้รู้ การที่พยายามขจัดยางเหนียวของกิเลส คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นงานทางจิตวิญญาณที่คนใดคนหนึ่งไม่สามารถหยิบยื่นให้กันได้ หากแต่ต้องก้าวเดินด้วยตนเอง และผู้ที่ได้เดินผ่านไปแล้วเพียงได้แต่ชี้แนะแนวทางเพียงเท่านั้น

พระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูแห่งอารยชน ผู้พลิกเรื่องจิตวิญญาณ เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนสามารถคิดได้และพระพุทธองค์ทรงเป็นผู้เพิกถอนกงล้อแห่งความทุกข์ มิให้เป็นสิ่งทำให้ผู้คนระทมอยู่กับความระทม ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงประดุจเครื่องวินิจฉัยโรคของแต่ละบุคคล จากนั้นจึงจัดยาระงับโรคแห่งความทุกข์ทรมาน ด้วยยาสองขนาน คือ วิปัสสนาและสมถะ อันเป็นยาระงับโรคแห่งกายและใจได้ อย่างที่ไม่มีที่ไหนขายในโลก อันมีค่ามากจนหาซื้อไม่ได้ด้วยเงินตรา หรือไม่มีราคาแต่หาได้ยากยิ่ง ในสภาวะปัจจุบัน กิเลสนั้นได้พัฒนาไปควบคู่กับความเจริญทางวัตถุแห่งความคิดของผู้คน ความละเอียดของกิเลสมีมาก ขนาดที่เราไม่รู้สึกเลยว่าเราได้ตกอยู่ในห้วงของกิเลสมานานมากเพียงใด เพราะกิจวัตรของกิเลสได้เกาะอยู่ทุกอายตนะของคนเรา จะว่าไปแล้ว เริ่มตั้งแต่เราลืมตาขึ้นมาดูโลก และแม้กระทั่งเราตื่นจากการหลับ เพราะกิเลสไม่เคยพักผ่อน หรือแม้แต่ในความฝัน กิเลสก็ยังเข้าไปปรุงแต่งได้อีก หากเมื่อใดจิตได้เหนื่อยล้าหรือเมินเฉยต่อการยืนหยัดในความดี กิเลสทั้งหลายก็เข้ามายึดที่มั่นในจิต ทำให้เราอาจเผลอเดินตามกิเลสมายาวนาน จนถึงขั้นเป็นกิจวัตรของการดำรงชีวิตเลย

พระอริยะแห่งผู้รู้ ได้ทรงวางตาข่ายเพื่อกันกระแสแห่งกิเลสเหล่านั้น ซึ่งมีความยาวนานถึง 2500 ปี เป็นสิ่งที่ได้ถูกมอบให้ทุกคน ตามคำมั่นสัญญาของการเพิกถอนกิเลสที่ตามแต่ทุกคนจะสามารถทำได้ หากเมื่อบุคคลนั้นได้ปฏิบัติตามรสแห่งบรมสุขย่อมปรากฏแก่ผู้นั้น แม้ว่า ในภาวะปัจจุบันการเดินตามเงื่อนไขของสังคมโลกจำทำให้ความวุ่นวายแห่งจิตมีมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งของสังคมยังมีต้นไม้ไว้ให้เกิดร่มเงา รอให้คนได้มาพักพิง นั่นคือร่มแห่งพระพุทธศาสนาที่สร้างอารยวิถีให้คนได้เดินตาม ได้รับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ที่มีในความอิสระ

การเดินทางที่มีจุดหมายของชีวิต หากมีโอกาสควรหาเวลามาสัมผัสกับอารยวิถีที่เป็นหนทางเตรียมความพร้อมให้ทุกคนสร้างกรรมดี และเตรียมการเคลื่อนสู่เสื้อผ้าชุดใหม่ เพราะตราบใดที่เรายังอยู่ไม่ได้อยู่เหนือปัจจัยของนอกเหตุเหนือผล การเดินทางย่อมยังยาวไกลที่จะหยุดพักอย่างถาวร หากบ้านที่แท้จริงยังรอคอยการกลับมาอย่างถาวรของทุกอณูแห่งจิตวิญญาณ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากเราก้าวเข้าสู่หนทางแห่งอารยวิถี หนทางข้างหน้าก็ยังอีกไม่ไกลที่จะได้พักอยู่บ้านที่แท้จริง แม้หนทางแห่งอารยวถีจะเป็นหนทางที่มุ่งตรงสู่ความไม่อาลัยต่อสิ่งทั้งปวง และเป็นทางชั้นเอกที่แม้พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นสะพานข้ามกองกิเลสทั้งปวง และอารยวิถีนี้ยังคงรอให้ทุกคนได้ก้าวมุ่งสู่ความเป็นอิสระแห่งชีวิต ก่อนที่เสื้อชุดเก่าที่คร่ำคร่าจะถูกปลดทิ้ง และก่อนที่ดวงจิตจะมุ่งตรงสู่ที่แห่งใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ครั้งหนึ่งในร้านเสริมสวยเมืองพาราณสี

คุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเข้าร้านเสริมสวยหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างงั้นไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหนก็ตามสิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำและลองก็คือการหาทางใช้บริการร้านเสริมสวย ไม่ว่าจะแพงหรือร้านจะหายากขนาดไหนไม่เป็นไรแต่ผู้หญิงทุกคนก่อนใช้บริการร้านเสริมสวยขอเพียงมั่นใจว่าเมื่อตัดเสร็จแล้วต้องสวยแน่ใช่หรือเปล่าค่ะ เต็มใจจ่ายอยู่แล้ว น้อยไปซะอีกกับการลงทุนเกี่ยวกับความสวยงาม

ใครจะว่าไงไม่สำคัญ แต่สำหรับดิฉันที่ผ่านการรับราชการมา 8 ปีเลยได้ข้อสรุปว่าบุคลิกภาพดีเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะทรงผมนั่นเอง นี่เองเป็นสาเหตุที่ดิฉันต้องเข้าร้านเสริมสวย(ตัดผม)เดือนละครั้งเมื่อครั้งอยู่เมืองไทย ดังนั้นเมื่อดิฉันได้เดินทางมาถึงเมืองพารานสีแห่งนี้ไม่กี่เดือน ทุกครั้งไม่ว่าจะปั่นจักรยานหรือนั่งรถผ่านเส้นทางใดจะต้องมองหาร้านเสริมสวยทุกครั้งไป แต่ด้วยในเวลานั้นความสามารถในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างยากจน (แขกว่าประจำ you are very poor) จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากในการค้นหาร้าน และแล้วความพยายามของดิฉันก็เป็นผลโดยไม่ทันตั้งตัว เมื่อมีหมอต่างชาติคนหนึ่งที่อยู่หอพักเดียวกัน ได้ไปเปลี่ยนทรงผมใหม่ ดูเก๋ไก๋เข้ากับใบหน้าของเธอมาก ซึ่งเป็นสไตล์ที่ดิฉันชอบพอดี ถึงแม้ English is very poor ก็ไม่สนใจยังไงต้องถามให้รู้ถ้าไม่เข้าใจเราก็มีอีกภาษาหนึ่งก็คือ body language น่าจะช่วยอธิบายได้ดีกว่าภาษาอังกฤษนะ ด้วยความใจดีของเธอบวกกับความสามารถในการสื่อสารของดิฉันจึงได้ความว่าตัดที่ร้านไหน พร้อมแผนที่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือบอกช่างตัดผมแค่เพียงว่า very short และจ่ายเงินไม่เกิน 90 รูปีย์ ดิฉันเริ่มประทับใจแล้วสิ ร้านตัดผมอะไรตัดผมได้สวยแล้วไม่แพงด้วย very short ท่องไว้ไปบอกช่างตัดผมนะ (บอกตัวเอง)

ด้วยความที่เสาะหามานานได้โอกาสแล้วจึงรีบชวนเพื่อนคนไทยร่วมห้องไปเป็นเพื่อน เพราะว่าเพื่อนน่าจะพาไปถูกกว่าไปคนเดียวเพราะเธออยู่อินเดียมานานกว่าดิฉัน และแล้วก็ไปเจอร้านนั้นจนได้ ในความคิดของดิฉันตอนนั้น โอ้โห ร้านจัดสวย ดูดีผิดร้านเสริมสวยทั่วไปในเมืองนี้ เหมาะสมที่จะตัดผมเราจริง ๆ เมื่อเดินเข้าไปในร้าน ก็พบว่ามีช่างเสริมสวย หน้าตาสวย น่ารัก ขาว ใส แต่งตัวทันสมัย เหมือนคนจีน เพื่อนสันนิษฐานให้ฟังว่าน่าจะเป็นคนธิเบตแน่หน้าตาแบบนี้ เวลานั้นมีลูกค้าพอสมควร ก็เลยนั่งรอสักครู่ใหญ่ ผู้หญิงเจ้าของร้านวัยกลางคน ก็มาถาม (แน่นอนภาษาอังกฤษค่ะ) เลยบอกไปว่ามาตัดผม (ขอทำความเข้าใจก่อนว่าประสบการณ์ ที่เมืองไทยเมื่อบอกว่ามาตัดผม ช่างจะทำอย่างไร บอกให้ลูกค้าไปนอนสระผมก่อนและหลังตัด สระด้วยแชมพู 2 ครั้ง และครีมนวด 1 ครั้ง) เมื่อได้เวลาช่างเรียกไปตัดผม ด้วยความเคยชินที่เมืองไทยเลยเกิดความสงสัยว่าทำไมไม่สระผมให้ก่อน ก็เลยบอกช่างว่าจะสระผม เค้าก็เลยเรียกอีกคนพาเราไปสระผม ทีนี้เจอปัญหาใหญ่เข้าแล้ว เพราะว่าร้านเสริมสวยแถวบ้านดิฉันไม่เคยมีอุปกรณ์ชนิดลูกค้านั่งให้สระ ก็เลยทุลักทุเลพอสมควร ช่างสระให้เพียงครั้งเดียว แล้วล้างเลยแถมล้างไม่สะอาดเพราะสังเกตว่ายังมีฟองอยู่เต็มเลยบริเวณท้ายทอย และที่สำคัญถูกล้างหน้าโดยปริยายเพราะน้ำไหลลงมาเปียกหน้า ส่วนคอเสื้อไม่ต้องถามเปียกไปหมด สระผมไม่มีการเช็ดผมให้ แต่ดิฉันต้องขอผ้ามาเช็ดหน้า แล้วก็เช็ดผมเอง

ทีนี้มาถึงตอนตัด จากที่ท่องไว้นานกลัวลืมเลยรีบบอกว่า very short และใช้มือประกอบการอธิบายปานกลางถึงมากที่สุดว่า ให้เลยหู ด้านหลังก็สั้นประมาณนี้ ช่างก็เก่งค่ะ ทำหน้าเหมือนเข้าใจเรา แต่เมื่อสังเกตไปขณะที่หล่อนตัดเหมือนจะใช้หวีไม่ถนัดเพราะหวีมันอันใหญ่เกินไปไม่เหมาะสมกับการใช้ตัดผมสักนิดเลย (เริ่มกลัวแล้วสิว่าจะได้ทรงผมทรงอะไรหว่า) ด้วยบุคลิกภาพส่วนตัวของดิฉันคือเป็นคนไม่ค่อยพูดและค่อนข้างเกรงใจไม่ติขณะที่ถูกตัดผม ดังนั้นเลยปล่อยให้ช่างตัดผมไปจนเสร็จคือใช้แป้งโรยที่คอและปัดผมออกจากเสื้อให้เรียบร้อยแล้ว ก็พบว่าไม่เห็นจะสั้นตรงไหนเลย แต่ก็ไม่ได้ต่อว่าช่างว่าอะไร ช่างมันเหอะแต่ก็อดเสียดายไม่ได้ว่าไม่ได้ทรงเดียวกับหมอเหมือนที่ผันไว้เลย แต่เพื่อนที่ไปด้วยไม่พอใจหลังจากนั่งมองอยู่นานก็เลยขอติช่างแทนเราโดยขอให้ช่างตัดให้สั้นขึ้นกว่านี้อีก โดยบอกว่า very very short ก็ไม่ได้พูดแตกต่างจากดิฉันตอนแรกเท่าไหร่ แค่มี very มากกว่าตัวเดียวเอง หลังจากนั้นช่างก็เริ่มลงมือเหมือนตัดผมใหม่เป็นครั้งที่ 2 เลย คือพรมน้ำที่ผมให้เปียกแล้วก็ตัดอีก ผลเป็นไงทราบมั้ยค่ะ ดิฉันรู้สึกเหมือนว่ากำลังจะเข้าไปรับราชการทหารเลย มองแล้วเหมือนผู้ชายอะไรจะขนาดนั้น ด้านหลังก็ทุย เป็นเส้นตรงเป๊ะ และสั้นมาก มองเป็นเหลี่ยมเลย ส่วนด้านข้างเหนือหู ก็เป็นเส้นตรง ไม่มีความอ่อนช้อย หรือเป็นรากไทรตามลักษณะของทรงผมผู้หญิงให้เห็นเลย ราคาเหรอค่ะจ่าย 2 เท่าที่หมอบอกค่ะ 180 รูปีย์ (สงสัยช่างคิดว่าตัด 2 หัว แน่เลย) ตัดผมสั้นตอนหน้าหนาว ก็เลยต้องใส่เสื้อคอเต่าปิดบังต้นคอไปพลาง ๆ จนกว่าผมจะยาว หรือถ้าหน้าหนาวผ่านไปก่อนแต่ผมยาวไม่ทันหน้าร้อนก็ค่อยมาคิดว่าจะแก้ไขยังไง ตั้งแต่คราวนั้นเลยตั้งใจไว้ว่า จะไม่ตัดผมที่อินเดียอีกเด็ดขาด ถ้าได้กลับไปเยี่ยมบ้านจะต้องเอากรรไกรตัดผมทุกชนิดมาตัดเองดีกว่า หรือไม่งั้นก็จะปล่อยยาวให้พะรุงพะรังไปเลย ทิ้ง concept เมื่อคราวอยู่เมืองไทยไปซะ เข็ดแล้ว ก็เลยได้คติพจน์ประจำใจจากเหตุการณ์นี้มาว่า ตัดผมผิด คิดจนผมยาว

 

ผู้ติดตาม

ออนไลน์หน้านี้

free counters