เครื่องหมายประจำชาติ หรือสัญลักษณ์ คือ ตราประจำราชการแผ่นดินของประเทศอินเดีย ได้ดัดแปลงมาจากเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นรูปหัวสิงห์ ๔ หัว หันหลังชนกันบนยอดเสาหิน พบที่สารนาถ เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสตกาล เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงบริเวณตำแหน่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา อันประกอบด้วยทางแห่งความสงบและความหลุดพ้น ให้แพร่หลายไปทั่วทิศทั้ง ๔ แห่งจักรวาล
สิงโตทั้ง ๔ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความกล้าหาญ และความมั่นใจ สถิตอยู่บนแท่นกลม แท่นกลมนี้ล้อมรอบด้วยสัตว์อีก ๔ ชนิด ขนาดย่อม ๆ สัตว์เหล่านี้เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์ทิศทั้ง ๔ คือ
๑. สิงโต พิทักษ์ทิศเหนือ ๒. ช้าง พิทักษ์ทิศตะวันออก
๓. ม้า พิทักษ์ทิศใต้ ๔. วัว พิทักษ์ทิศตะวันตก
แท่นกลมนี้ตั้งอยู่บนดอกบัวบานดอกหนึ่ง ดอกบัวนี้เป็นสัญลักษณ์แทนแหล่งอันเป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งที่ดีงามและเจริญรุ่งเรือง ดังมีคำขวัญที่จารึกไว้ใต้เครื่องหมายนี้ด้วยอักษรเทวนาครีว่า “สัตยาเมวะ ชะยะเต” (Satayameva Jayaye) ซึ่งมีความหมายว่า “ความจริง คือ ชัยชนะ”
ดังนั้น เครื่องหมายประจำชาติ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการยืนยันอย่างแน่นอนอีกครั้งว่าอินเดียสมัยปัจจุบัน ได้รับรองพันธกิจเรื่องสันติภาพ และความปรารถนาดีต่อโลกที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ซึ่งได้ประกาศใช้ตราสัญลักษณ์นี้เมื่อครั้งที่ ฯพณฯ ยวาหรลาล เนรูห์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ จนกระทั่งปัจจุบัน
เครื่องหมายประจำชาติอินเดีย
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี, วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Comments :
แสดงความคิดเห็น