เครื่องหมายประจำชาติ หรือสัญลักษณ์ คือ ตราประจำราชการแผ่นดินของประเทศอินเดีย ได้ดัดแปลงมาจากเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นรูปหัวสิงห์ ๔ หัว หันหลังชนกันบนยอดเสาหิน พบที่สารนาถ เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสตกาล เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงบริเวณตำแหน่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา อันประกอบด้วยทางแห่งความสงบและความหลุดพ้น ให้แพร่หลายไปทั่วทิศทั้ง ๔ แห่งจักรวาล
สิงโตทั้ง ๔ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความกล้าหาญ และความมั่นใจ สถิตอยู่บนแท่นกลม แท่นกลมนี้ล้อมรอบด้วยสัตว์อีก ๔ ชนิด ขนาดย่อม ๆ สัตว์เหล่านี้เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์ทิศทั้ง ๔ คือ
๑. สิงโต พิทักษ์ทิศเหนือ ๒. ช้าง พิทักษ์ทิศตะวันออก
๓. ม้า พิทักษ์ทิศใต้ ๔. วัว พิทักษ์ทิศตะวันตก
แท่นกลมนี้ตั้งอยู่บนดอกบัวบานดอกหนึ่ง ดอกบัวนี้เป็นสัญลักษณ์แทนแหล่งอันเป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งที่ดีงามและเจริญรุ่งเรือง ดังมีคำขวัญที่จารึกไว้ใต้เครื่องหมายนี้ด้วยอักษรเทวนาครีว่า “สัตยาเมวะ ชะยะเต” (Satayameva Jayaye) ซึ่งมีความหมายว่า “ความจริง คือ ชัยชนะ”
ดังนั้น เครื่องหมายประจำชาติ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการยืนยันอย่างแน่นอนอีกครั้งว่าอินเดียสมัยปัจจุบัน ได้รับรองพันธกิจเรื่องสันติภาพ และความปรารถนาดีต่อโลกที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ซึ่งได้ประกาศใช้ตราสัญลักษณ์นี้เมื่อครั้งที่ ฯพณฯ ยวาหรลาล เนรูห์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ จนกระทั่งปัจจุบัน
เครื่องหมายประจำชาติอินเดีย
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี, วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553สาหรี่
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี,สัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของอินเดีย คือ การแต่งกายของสตรีด้วยชุดสาหรี (Sahri) ซึ่งยังคงเป็นเอกลักษณ์ของสตรีชาวอินเดีย สาหรียังคงเป็นชุดมาตรฐานของการแต่งกายสตรีของชาวอินเดียโดยทั่วไป จะแตกต่างกันไปบ้างก็เฉพาะสีสันความประณีตและความวิจิตรบรรจงเท่านั้น ซึ่งมีความยาวระหว่าง ๕-๗ หลา และกว้างประมาณ ๑ เมตร วิธีการนุ่งสาหรีนั้น จะใช้ปลายข้างหนึ่งซุกไว้ในกระโปรงยาวคล้ายชุดซับใน ชายอีกข้างจะพันรอบเอวแล้วพับเป็นตะเข็บด้านหน้าแล้วตวัดข้ามไหล่ซ้ายทิ้งชายห้อยลงไปด้านหลัง เช่นเดียวกับการพาดสะใบเฉวียงบ่า หรืออาจจะนุ่งแบบโจงกระเบนก็ได้แล้วดึงชายมาคลุมศีรษะ การแต่งสาหรีนี้ ปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรประจำวันของสตรีอินเดียโดยทั่วไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
สำหรับประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของชาวอินเดียนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ส่วนมากจะสังเกตดูได้จากประติมากรรมรูปปั้นในเทวสถานต่าง ๆ ภาพวาดตามผนังถ้ำ และจากคำบรรยายไว้ในวรรณคดีเรื่องเก่า ๆ ในสมัยก่อนสตรีชาวอินเดียมีการแต่งกายแบบง่าย ๆ คือ เพียงใช้ผ้าพันกายท่อนล่างจากสะเอวลงมาถึงเข่าหรือข้อเท้า และตกแต่งด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ แล้วแต่ฐานะของบุคคลนั้น ๆ แม้ที่สุดประดับด้วยพวงมาลัยดอกไม้สด เมื่อเวลาผ่านไป การแต่งกายในลักษณะเช่นนี้ ได้วิวัฒนาการแก้ไขดัดแปลงให้ได้รูปทรงที่ดูเหมาะสมสวยงามยิ่งขึ้น ตามสมัยนิยม จนในที่สุดก็ได้แบบอย่างที่เป็นมาตรฐานดังที่เรียกชื่อว่า “ชุดสาหรี” อยู่ในทุกวันนี้
บินดี
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี,สัญลักษณ์ที่พิเศษของคนอินเดียอีกประการหนึ่งที่ชาวต่างชาติสนใจเป็นอย่างมาก คือ “จุดกลางหน้าผาก” โดยเฉพาะสตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้วทุกคนจะแต้มหรือติด จุดกึ่งกลางน้าผาก (ระหว่างคิ้ว) จุดนี้เรียกว่า “ติกะ (tika) หรือ ติลก (tillak) หรือ บินดี (Bindi)
โดยทั่วไปจุดนี้จะนิยมใช้สีแดง ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับโลหิต หรือเลือดนั่นเอง หมายความว่า จุด ๆ นี้ เป็นเสมือนขุมหรือแหล่งพลังของชีวิต และที่ต้องจุด ๆ นี้ไว้กึ่งกลางหน้าผากก็เพราะว่า กลางหน้าผากหรืออุณาโลม คือ ตาที่สาม และชาวอินเดียยังเชื่อว่า จุดกึ่งกลางหน้าผากนี้คือ แหล่งขุมทรัพย์ทางด้านปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตและความจริงที่ซ่อนอยู่ในภายใน เป็นขุมแห่งสมาธิ ปัญญา ญาณหยั่งรู้และความรู้ ดังนั้น ตาที่สามจึงเป็นกำลังแห่งปัญญา
ติกะ (tika) นี้มีความหมายกึ่งศาสนาด้วย อันหมายถึงกำลังปัญญาของพระศิวะ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนาฮินดู และจะใช้ในโอกาสอันเป็นมงคลทุก ๆ งาน ชาวอินเดียจะต้อนรับแขกหรือบุคคลสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วยพวงมาลัย ช่อดอกไม้ และติกะ คือ แต้มจุดกึ่งกลางหน้าผากด้วยแป้งฝุ่นสีแดง หรือสีอื่น ๆ พระที่ทำพิธีทางศาสนา พ่อที่ส่งมอบลูกสาวแก่เจ้าบ่าว สามีจะให้มงคลแก่ภรรยา และเพื่อน ๆ ที่อวยพรให้เพื่อนโชคดี ล้วนใช้เครื่องหมาย “ติกะ” นี้เป็นสัญลักษณ์ทั้งสิ้น