หากถามว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ? คำตอบที่ได้ รับเกือบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคย” เหตุผลก็คือ “เป็นไปไม่ได้ เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชมีชีวิตอยู่หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานกว่าสองร้อยปี” นี่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีเหตุผล ทุกคนยอมรับ หากเมื่อลองมองดูคัมภีร์ทางศาสนาก็จะพบคำตอบของคำถามได้เช่นเดียวกัน
พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อได้สร้างพระเจดีย์ครบแปดหมื่นสี่พันองค์เสร็จแล้ว และได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ทุก ๆ เจดีย์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงดำริจะจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เพื่อประกาศให้ชาวโลกได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธศาสนา แต่พระองค์ทรงมีความปริวิตกถึงเหตุร้ายภัยพิบัติอันจะทำลายงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ จึงเสด็จไปสู่หมู่ภิกษุสงฆ์กราบอาราธนาภิกษุผู้มีความสามารถจะปัดป้องกันภัยได้ ในที่สุดในท่ามกลางสงฆ์ได้เลือกพระอุปคุตผู้ทรงอภิญญา ๖ และมีฤทธิ์มากทำหน้าที่ป้องกันภัยพิบัติในครั้งนี้
เมื่อวันงานจริง ๆ เหตุก็เป็นดังที่คาดการณ์ไว้คือ พญามารวัสสวดี ซึ่งเป็นพญามารตนเดียวกันกับที่เคยเข้าทำลายพระพุทธองค์เมื่อครั้งจะตรัสรู้ พญามารได้ขัดขวางทำลายพิธีครั้งนี้ทุกวิถีทางที่ตนจะกระทำได้ เป็นต้นว่า นิรมิตมหันตพายุ บันดาลห่าฝนพายุกรด ห่าฝนก้อนศิลา ห่าฝนถ่านเพลิง ฝนน้ำกรด เป็นต้น พระอุปคุตก็ป้องกันได้ทุกครั้งไป
พญามารโกรธยิ่งนัก แปลงกายเป็นรูปต่าง ๆ ต่อสู้กับพระเถระ เช่น เนรมิตกายเป็นรูปโคใหญ่ เป็นพญานาคมี ๗ เศียร เป็นยักษ์ใหญ่ถือกระบองน่าสะพรึงกลัว แต่ทุกครั้งไม่ว่าพญามารจะเป็นอะไร พระเถระก็จำแลงกายเป็นอย่างนั้นให้ใหญ่กว่าถึงสองเท่า จนพญามารพ่ายแพ้และถูกจับมัดไว้ จนกว่าจะทำการฉลองสมโภชสำเร็จเสร็จสิ้น ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พญามารถูกจับมัดจองจำได้รับทุกข์ทรมานซึ่งไม่เคยมีใครกระทำอย่างนี้กับตนมาก่อน จึงนึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ว่า
“โอ .. ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ต้นมหาโพธิพฤกษ์ เราเข้าทำลาย ประหัตประหารพระองค์ด้วยจักรราวุธอันคมกล้า อันสามารถจะทำลายทุกอย่างได้ พระพุทธองค์กลับใช้สมติงสบารมีญาณ และจักรนั้นกลับกลายเป็นดอกไม้โปรยปรายทั่วทิศ แม้มารบริวารของเราก็ขว้างไปซึ่งอาวุธต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นบุปผชาติลงสู่พื้นพสุธา เรากระทำภยันตรายนานัปการ แต่พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงกระทำโทษโกรธตอบแก่เรา แม้นว่าสักนิดหน่อยหนึ่งก็มิได้มี แต่กาลบัดนี้สาวกของพระพุทธองค์ ทำไมถึงไม่มีความกรุณาปรานี กระทำเราให้ได้รับทุกข์ทรมานถึงเพียงนี้”
ในที่สุดพญามารได้รำลึกถึงขันติคุณและมหากรุณาธิคุณแห่งพระพุทธองค์ จึงได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ ซึ่งสมดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสทำนายไว้ว่า “พญามารจะปรารถนาพุทธภูมิ และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลภายหน้า” ลำดับนั้น ก่อนจะปล่อยพญามารไป จึงอยากให้พญามารกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน ในที่สุดจึงตกลงให้พญามารเนรมิตรูปกายพระศาสดาให้ดู เพราะชนที่เกิดมาภายหลังมิเคยได้เห็นเลย อีกประการหนึ่งพญามารก็ได้เคยเห็นพระรูปของพระพุทธองค์มาแล้ว พญามารรับปากว่าจะกระทำตามนั้น แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อเนรมิตรูปกายพระพุทธองค์แล้วอย่าถวายอภิวาทเป็นอันขาด เพราะนั้นมิใช่พระองค์จริง ๆ
จากนั้นพญามารจึงเนรมิตเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมฉัพพรรณสังสีให้งดงามยิ่งนัก พร้อมทั้งมีพระอัครสาวกสถิต ณ เบื้องซ้ายขวา แล้วแวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ สิ่งนี้ยังความปีติยินดีให้แก่พระอุปคุตเถระและพระเจ้าอโศกมหาราช พร้อมทั้งข้าราชบริพารประชาชนทั้งหลายในขณะนั้นยิ่งนัก เพราะไม่นึกว่าสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะพบก็ได้พบ ไม่คิดว่าสิ่งที่อยากได้เห็นก็ได้เห็น เป็นความเอิบอิ่มใจอย่างล้นหลาม ช่างเป็นบุญเสียเหลือเกินยากแท้จะพรรณนาได้ บุคคลอื่นใด ไหนเล่าจะมีโอกาสดีอย่างพวกเรา ซึ่งทุกคนในที่นั้นต่างก็คิดเป็นอย่างเดียวกัน และโดยมิได้นัดหมายคนทั้งหมดก็ยกมือขึ้นวันทาพระพุทธองค์ทันที ด้วยความเคารพศรัทธาเป็นล้นพ้น บางคนถึงกับขนลุกชูชันบ้างก็ถึงกับน้ำตาไหลนองหน้าด้วยความตื่นเต้น
ทันใดนั้นเอง พระพุทธองค์พร้อมด้วยมหาสาวกก็อันตรธานหายวับไปกับตา กลับกลายเป็นร่างพญามารวัสสวดีตามเดิม ทำให้ทุกคนเสียดายยิ่งนัก เพราะมีโอกาสเห็นพระองค์เพียงครู่เดียว พญามารจึงต่อว่าทันทีว่า “ทำไมพวกท่านจึงไหว้เรา ทั้งที่ได้กระทำ สัญญาไว้แล้ว ซึ่งเรามิอาจแสดงได้อีกแล้ว”
ฝ่ายพระอุปคุตเถระและพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวตอบพญามารไปว่า “ดูก่อนพญามาร เรามิได้ยกมือไหว้ท่านเลย เราไหว้พระสรีรูปพระพุทธองค์ด้วยจิตเลื่อมใสต่างหาก สิ่งนี้เกิดจากศรัทธาของเราเอง แม้ว่าจะเป็นการเนรมิตของท่าน เราก็ยังนับว่าเป็นพระพุทธองค์อย่างแท้จริงท่านทำหน้าที่ของท่านสมบูรณ์แล้ว จากนี้ไปท่านจงเป็นอิสระ” พญามารวัสสวดี ก็กราบลากลับสู่ที่สถิตสถานของตน ซึ่งก็คือปรนิมมิตวัสสวดีเทวโลก
เรื่องราวดังกล่าวมานี้ หากประสงค์จะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมโดยพิสดาร สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา และวิมุติรัตนมาลี
>
>
>
>ข้อมูลจาก : สิทธารถสาร ฉบับปีที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ “พุทธชยันตี”
Comments :
แสดงความคิดเห็น