ประเทศอินเดียเป็นดินแดนเกิดของศาสนาและลัทธิที่มีความสำคัญหลายลัทธิ ศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวอินเดียแล้วก็ตาม แต่ทว่าชาวอินเดียก็ยังนับถือพระพุทธศาสนาในทางอ้อม (แบบไม่รู้ตัว) เพราะตราประจำชาติของอินเดียคือสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา นั่นคือเสาหัวสิงห์สี่หัว ของพระเจ้าอโศกมหาราชจอมราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้สร้างเอาไว้ แต่ครั้นกาลเวลาผ่านไป ก็ได้ถูกคุกคามโดยศาสนาต่าง ๆ เข้ามาทำลายแทบจะไม่มีเหลือหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเคยมีพระพุทธศาสนาเลย แม้แต่มหาวิทยาลัยแห่งแรกของพระพุทธศาสนาก็ยังมิวายโดนทำลายด้วย นั่นคือมหาวิทยาลัยนาลันทา ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีหลักฐานเอกสารการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนามากมายหลายอย่าง อาทิเช่น พระไตรปิฎก ตราสัญลักษณ์ เครื่องบูชา พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เป็นต้น แม้แต่กระนั้นเหล่าสงฆ์ที่ทำการศึกษาอยู่ที่นั่นจำนวนเป็นหมื่น ๆ ก็ยังโดนฆ่าเหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับสิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้จะมิโดนทำลาย ปัจจุบันยังคงเหลือแต่รอยความทรงจำ ซากปรักหักพัง (ก้อนอิฐ หิน ทราย) และรอยความเจ็บช้ำที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ศาสนา ที่ถูกบันทึกไว้โดยสมณะเฮี้ยนจัง หรือ (จดหมายเหตุของพระถังซำจั๋ง) และผู้ขุดค้นเป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม
จะอย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องราวที่ผ่านมาจากอดีต ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะถูกทำลายลงอย่างไร้ร่องรอยแห่งความสมบูรณ์แบบ แต่เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้สร้างไว้เพื่อบูชาคุณของพระพุทธศาสนา จำนวน 84000 ต้น ก็ยังคงเหลือความสมบูรณ์แบบไว้ให้ชาวพุทธ นักโบราณคดี ผู้ที่สนใจทั่วไปได้คอยดื่มด่ำถึงความวิจิตรพิสดาร ความประณีต ความละเอียด และความสวยงามของหัวเสาของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ได้ทรงพระปณิธานสร้างถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ถึงแม้ว่าจะหลืออยู่เพียงไม่กี่ต้นก็ตาม แต่ต้นที่เหลือก็สมบูรณ์แบบที่สุด
ปัจจุบันหัวเสารูปสิงห์สี่หัวก็ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดียซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับธัมเมกขสถูป ซึ่งเป็นสถานที่แสดงธรรมครั้งแรก และอยู่ใกล้กับป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน (สวนกวาง) และเป็นสถานที่เกิดพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาด้วย โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษแปลกใจตรงที่ถึงแม้ว่าต้นเสาจะถูกทำลาย โดยหักเป็นท่อน ๆ แต่หัวสิงห์ที่อยู่บนยอดเสากลับไม่ถูกทำลายโดยแม้แต่น้อย นั่นหมายถึงอำนาจความศรัทธาที่มั่นคงแน่วแน่ของพระเจ้าอโศกมหาราช และด้วยอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักอารักขาอยู่ที่นั่นด้วยกระมัง จึงทำให้สัญลักษณ์ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนคำสอนของพระบรมศาสดา ไม่ถูกทำลายลงด้วยอำนาจความอิจฉาริษยาของคนใจชั่วเหล่านั้น ทางรัฐบาลอินเดียจึงได้นำเอาหัวสิงห์สี่หัวนี้เป็นสัญลักษณ์ตราแผ่นดินคงเป็นเพราะทึ่งใจความพิสดารของช่างในยุคนั้นเป็นแน่ ที่สำคัญไปกว่านั้นธนบัตรของอินเดียทุกฉบับยังคงใช้ตราหัวสิงห์เป็นสัญลักษณ์อีกด้วย (ในเหรียญ 5 รูปียังคงใช้ตราธรรมจักร) จึงถือได้ว่าชาวอินเดียถึงแม้จะไม่นับถือพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่ก็ยังยอมรับสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาโดยทางอ้อม และยังบูชาทุกครั้งที่ได้ธนบัตรมา โดยการนำเอาธนบัตรแตะตรงหน้าผากของตนเอง นั่นหมายถึงการบูชาโดยทางอ้อมนั่นเอง แล้วเราในฐานะที่เป็นชาวพุทธโดยตรง จะไม่ยอมรับและนับถือก็กระไรอยู่ พร้อมนำความหมายที่อยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้นมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตรใจ โดยการนำคำสอนของพระพุทธองค์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ธัมมจักรมีอยู่ 12 ซี่บ้าง 8 ซี่บ้าง นั่นหมายถึง ปฎิจจสมุปบาท (Dependent Origination) อริยมรรค 8 ประการ (Eight Fold Paths) เป็นต้น แต่ตราธัมมจักรในธนบัตรของอินเดียมีจำนวน 28 ซี่ นั้นหมายถึงการทำกิจวัตรประจำวันที่มีอยู่ทั้งวันทั้งคืน ก็คือทำกิจในเต็ม 24 ชั่วโมง แม้แต่ในภควัทคีตา ก็กล่าวไว้โดยให้ทุกคนนั้นสำนึกในหน้าที่ของวรรณะของตน เป็นต้น
ถึงเวลาแล้วที่เราชาวพุทธจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศานา พร้อมทั้งนำหลักคำสอนที่มีคุณค่ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดมีกับตนเองตลอดทั้งครอบครัว และสังคม คนไทยเรายังมีแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดีให้เราน้อมนำมาเป็นแบบอย่างได้ นั้นคือพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวของชาติไทยทุก ๆ องค์ โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลปัจจุบัน พระองค์เป็นพุทธมามกะ และเป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์แบบได้เป็นอย่างดี ธรรมที่ใช้ปกครองประชาราษฎร์ ก็คือทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นธรรมของราชา แม้แต่พระเจ้าอโศกมหาราชก็ยึดทศพิธราชธรรมนี้แหละเป็นเครื่องปกครองพสกนิกรของพระองค์ ทำให้เกิดความผาสุก ร่มเย็น ตลอดเสมอมา พระมหากษัตริย์ไทยทุก ๆ พระองค์ทรงเป็นศาสนูปถัมภกต่อสถาบันพระพุทธศาสนาโดยทุกรัชกาล
ในฐานะที่เราเป็นพสกนิกรของพระองค์ ควรนำปณิธานของท่านมาเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว หน้าที่การงาน ตลอดทั้งประเทศชาติ จะได้มีความสงบสุขร่มเย็นตลอดชั่วกาลนาน จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบกับมหาราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรม เราอยู่ในดินแดนแห่งความสุขแล้ว ไยไม่นำความสุขเหล่านั้นมาอยู่กับตนเองเล่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” “เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก”
เชิญเถิดเหล่าพุทธศาสนิกชนทุกท่านอย่าให้เขาดูถูกชาติไทยว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” เลย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งทำความดี เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และตนเองเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเทอญ
Source : สิทธราถสาร ฉบับ ธรรมจักขจร ฉบับที่ 10 ปี 2549