ป. ธงชัย: เขียน
คำว่า มะเร็งไม่ว่าเกิดที่ไหน ส่วนไหน ที่อวัยวะใด ก็ล้วนไม่มีมนุษย์คนไหนต้องการทั้งนั้น เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่ทำลายชีวิตให้สั้นลงไป เป็นความทุกข์ของผู้ที่ประสบ ไม่ทรมานน้อยก็ต้องทรมานมาก แต่สรุปว่าต้องทรมานและเสียชีวิตลงในที่สุด แต่ทว่ามะเร็งที่ว่านี้ ก็เพียงแต่กัดกินส่วนต่างๆของร่างกายมนุษย์เท่านั้น และก็ไม่ลามไปหาคนอื่นๆที่อยู่ข้างๆ หรือสังคม แต่ที่ผู้เขียนเสนอในตอนนี้ก็คือมะเร็งสังคม มะเร็งชนิดที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่กัดแทะเนื้อเยื่อชั้นในและชั้นนอกของมนุษย์เท่านั้น ก็ยังแพร่ไปหาคนอื่น พร้อมทั้งยังทำลายสังคม คนรอบข้างให้เสียหายไปด้วย ถือว่ามะเร็งชนิดนี้รุนแรงกว่าหลายเท่าก็ว่าได้
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างมาไม่ให้อยู่คนเดียว แต่เกิดมาให้อยู่ร่วมด้วยกันเป็นสังคม จำต้องมีการคบหาสมาคมอยู่ร่วมกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีผู้ใดเลยที่จะเลือกเกิดได้แบบครบครันพร้อมสรรพทุกอย่าง บางคนเกิดมาก็ยากจนตั้งแต่แรกเกิด ไม่มีแม้แต่ข้าวปลาอาหารที่จะบรรเทาความหิว ไม่มีแม้แต่ชายคาที่คอยป้องกันเปลวแดดอันร้อนแรงและสายฝนที่กระหน่ำลงมา รวมทั้งความหนาวเหน็บเยือกเย็นในยามหลับนอนได้ แต่ขณะที่บางคนนั้นเกิดมาก็รวยเป็นถึงมหาเศรษฐีผู้มีพร้อมสรรพทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้แม้จะแตกต่างกันราวฟ้ากับดินในขณะมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือ ความตาย สิ่งที่ไม่มีใครต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครผัดผ่อนหรือหลีกเลี่ยงไปได้แม้แต่คนเดียว แม้จะจนหรือรวย ต่างชั้นวรรณะ ต่างศาสนา แต่สิ่งที่เสมอภาคกันนั่นก็คือความเป็นมนุษย์ และมีรอยต่อของความแตกต่างเหล่านั้นเข้าหากันนั่นก็คือ ความเกื้อหนุนกัน ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็งสังคมได้ดีขนานหนึ่ง
ความเจริญรุ่งเรืองหรือการพัฒนาสังคมนั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ในสังคมนั้นๆร่วมมือร่วมใจกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัวมากเกินไป
ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ได้ตรัสเครื่องสงเคราะห์กันและกันหรือที่เรียกว่า สังคหวัตถุ มี ๔ ประการ คือ
ทาน คือการแบ่งปันของให้คนอื่น
ปิยวาจา คือถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน น่าฟัง
อัตถจริยา คือประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ช่วยเหลือประโยชน์คนอื่น หรือสังคม
และสุดท้าย สมานัตตตา คือสม่ำเสมอ ไม่ถือตัว
ทั้งสี่อย่างที่กล่าวมานี้ เป็นธรรมเกื้อกูลกันในสังคมเป็นยาต้านมะเร็งขนานแท้ป้องกันไม่ให้เกิดในสังคมใดสังคมหนึ่ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากจนเกินไป ซึ่งถ้านำมาปฏิบัติได้ มะเร็งชนิดไหนก็ไม่สามารถที่จะกล้ำกรายเข้ามาในชีวิต และสังคมนั้นๆ ได้เลย.
มะเร็งสังคม
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี, วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552อีจาร่า (ประเทืองอินเดีย)
สมาคมนักศึกษาไทย ม.พาราณสี,อมรวารี: เขียน
สิ่งที่แปลกใจอย่างหนึ่งของผู้ที่เดินทางมาเที่ยวอินเดีย นั่นก็คือ กลุ่มผู้ชายแต่งหน้าทาปาก นุ่งชุดส่าหรี ใส่เครื่องประดับอย่างสวยงาม พร้อมกับปรบมือเสียงดังเป็นจังหวะสลับกับการร้องเพลงเพื่อขอเก็บเงิน จากผู้โดยสารบนรถไฟ บุคคลกลุ่มนั้นคือ ฮีจาร่า ในสังคมอินเดียนั้น สามีจะดีใจเมื่อภรรยาคลอดบุตรออกมาเป็นชาย เนื่องจากในคัมภีร์ มนู ของศาสนาฮินดูนั้นเชื่อว่าผู้ที่แต่งงานแล้วมีบุตรชาย เมื่อตายไปแล้ว พ่อ-แม่ จะไม่ตกนรกขุมปุตะ แต่คนอินเดียนั้นจะไม่ยอมรับเมื่อบุตรชายของเขานั้น เป็นชายไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะทั้งร่างกายและจิตใจ เด็กคนนั้นจะถูกส่งไปอยู่ยังกลุ่มของ ฮีจาร่า ให้ได้รับการดูแล เขาจะถูกตัดขาดจากทางบ้านและจะไม่มีใครรู้จักเขาอีกต่อไป นี่เป็นวัฒนธรรมอินเดียที่สืบทอดกันมาหลายพันปีแล้ว
การเป็นอยู่ของกลุ่มฮีจาร่า พวกเขามีอาชีพสร้างสีสันและความสนุกสนาน โดยการเต้นรำ ร้องเพลง และแต่งกายด้วยชุดส่าหรีสีสันสดใส ใส่เครื่องประดับอย่างสวยงาม เราจะพบเห็นพวกเขาตามงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานบูชาประจำปี งานแต่งงาน งานโกนจุก ตลอดจนถึงงานรื่นเริงต่าง ๆ โดยจะมีเจ้าภาพว่าจ้างให้ไปสร้างสีสันให้กับงานอย่างเป็นทางการ แต่ส่วนหนึ่งของกลุ่มฮีจาร่านั้น ในบางงานก็ไปเป็นส่วนเกินของงาน คือจะไปร้องเพลง เต้นรำกันอย่างสนุกสนาน และจะส่งตัวแทนเข้าไปขอรางวัลกับเจ้าภาพทั้งที่เจ้าภาพไม่ได้เชิญมา นี่คือความเกรงใจของคนอินเดียที่มีต่อ ฮีจาร่า เนื่องจากฮีจาร่านั้น บูชาเจ้าแม่ Bahuchara Mata เขาจึงมีความสามารถพิเศษ ที่ให้พรผู้คนต่าง ๆ ได้ โดยการกล่าวว่า “มีลูกชายเยอะ ๆ” ในบทเพลงอวยพรงานแต่งงานของ ฮีจาร่า เป็นบทเพลงแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาวให้มีความรักกันยืนยาว และมีลูกชายลูกสาวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
ในคัมภีร์ รามายณะ ได้กล่าวถึงกลุ่มของ ฮีจาร่า ว่าในขณะที่กลุ่มชนได้เดินทางไปส่งพระราม เนื่องจากพระรามต้องเดินทางไปอยู่บำเพ็ญพรตในป่าเป็นเวลานาน จนถึงชายป่า พระรามได้ตรัสกับกลุ่มชนว่า “ผู้ชาย ผู้หญิงทั้งหลาย ให้กลับไปบ้านของเจ้าเถิด” กลุ่มชนเหล่านั้นก็เดินทางกลับบ้านของตนอย่างเชื่อฟัง จนถึงเวลา ๑๔ ปี พระรามเดินทางกลับออกจากป่า พระรามได้พบกับกลุ่มของ ฮีจาร่า นั้นรอพระองค์อยู่ เนื่องจากพระรามมิได้บอกให้กลุ่มของ ฮีจาร่า เดินทางกลับ (เพราะไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง) พวกเขาเฝ้ารอพระรามอย่างเชื่อฟัง จึงทำให้พระรามเกิดความดีใจที่กลุ่ม ฮีจาร่า มีความเคารพศรัทธาในคำพูดของพระองค์ จึงประสาทพรให้ ฮีจาร่า สามารถให้พรใครก็ได้ และสามารถสาปแช่งใครก็ได้ ให้เป็นไปตามคำพูดของตน
ในคัมภีร์ บางเล่มได้กล่าวถึงพระศิวะคิดแผลง ๆ แปลงกายทำพระองค์เป็นสองเพศ เพศหญิง(อิตถีลิงค์) ครึ่ง เพศชาย (ปุงลิงค์) ครึ่ง มีนามว่า อรรธนารี หรือ อรรธริศวร คือเป็นพระศิวะก็เรียกได้ เป็นพระปารวตีก็เรียกได้ ในบางครั้งพระศิวะแปลงเพศเป็นหญิงแท้ ๆ ก็มี ดังคราวครั้งหนึ่งพระองค์แปลงเป็นนารีในที่รโหฐาน เพื่อล้อพระอุมาเล่นในเมื่อทรงพระสำราญ ฉะนั้นสรรพสิ่งที่อยู่ในบริเวณนั้นก็กลายเพศเป็นอิตถีไปหมด
ในคัมภีร์มหาภารตยุทธก็เช่นกัน ได้กล่าวถึง ห้าพี่น้องตระกูล ปาณฑพ หลังจากแพ้การเล่นสกาแล้ว ตามเงื่อนไขต้องอยู่ในป่าเป็นเวลา ๑๔ ปี เมื่ออยู่ป่าเป็นเวลา ๑๓ ปีครบแล้ว ในปีสุดท้ายต้องปลอมตัวมิให้ฝ่ายศัตรูจำได้ มิเช่นนั้นต้องอยู่ป่าเป็นเวลาอีก ๑๒ ปี หนึ่งในห้าพี่น้องนั้นก็คือ อรชุน ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเอกของเรื่องนี้ก็ได้ปลอมตัวเป็นสาวใช้หรือ ฮีจาร่า นั่นเอง เพื่อสอนนาฏศิลป์และดนตรี มีชื่อปลอมว่า พฤหันนลา อยู่ในราชสำนักของท้าววิราฏ
มิใช่แต่ในศาสนาฮินดูเท่านั้นที่มี ฮีจีร่า ในฮาเร็มของกษัตริย์มุสลิมก็เช่นกัน ฮาเร็มของกษัตริย์นั้นจะมีแต่เหล่า มเหสี เหล่าสนม กำนัล นางใน เป็นจำนวนนับร้อยนับพัน ซึ่งยากที่บุรุษเพศจะล่วงล้ำไปใกล้ชิดได้ นอกจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นหน้าที่ของ ฮีจาร่า ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกัน ดูแล ตรวจตราความปลอดภัย สุข ทุกข์ สุขภาพอนามัย ตลอดถึงเป็นผู้ส่งข่าวสารให้กับนางในฮาเร็มทั้งหลาย จนฮีจาร่าบางคนได้รับตำแหน่งสูงส่งในราชสำนักก็มี
เมื่อพระเจ้าให้จุดด้อยแด่คนคนหนึ่ง พระเจ้าก็ไม่ลืมที่จะแอบซ่อนจุดเด่นให้แก่คนคนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลคนนั้นจะหาเจอหรือไม่ แมว ไม่ว่าจะสีอะไร แต่ขอให้จับหนูได้ นั่นคือความสามารถของแมว คนก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ขอให้ทุกคนเป็นคนดี ทำตัวเองให้ดีกับบุคคลรอบข้าง เท่านั้นสังคมก็จะมีความสุข ในสังคมคนอินเดียนั้น ฮีจาร่า มิได้เป็นที่เคารพ หรือ รังเกียจแก่พวกเขาแต่อย่างใดเพราะ คนอินเดียก็เชื่อว่าถ้าบุคคลกลุ่มนี้เป็นคนดี เขาก็ติดต่อคบค้ากันตามปกติ ที่ผู้เขียน ได้ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะ ได้รับฟังคำถามมากมายจากผู้เดินทางว่าทำไมคนอินเดียถึงเกรงใจบุคคลกลุ่มนี้เสียเหลือเกิน จึงพยายามที่จะเสาะหาคำตอบให้กับผู้ที่ข้องใจให้หายสงสัยกันเสียที.