.

.
"สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข"
ข่าวประชาสัมพันธ์



ขอประกาศเลิกอัฟเดทข้อมูลที่Blogแห่งนี้
สามารถเข้าไปใช้งาน website อย่างเป็นทางการได้ที่
http://www.tsa-bhu.org/


ข่าวเด่น

* ขอแสดงความยินดีแด่.. พระครูใบฎีกา ดร. มานิตย์ เขมคุตโต , พระมหา ดร. ธีรชัย ปุญฺญชีโว , พระ ดร. ราเชนทร์ วิสารโท ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ B.H.U. ในปี ๒๕๕๓






* สมาคมพระนักศึกษาไทย มหาววิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันลงอุโบสถ ที่วัดไทยสารนาถ พร้อมเจริญพระพุทธมนต์ ณ ธัมเมกขสถูป เนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์





สมาคมพระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสีได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ "๑๓ เมษา เสนคุปต้ามหาสงกรานต์" ประจำปี ๒๕๕๓ ณ หอเสนฯ โดยมีคณาจารย์ทางมหาลัย และต่างชาติเข้าร่วมนับร้อยชีวิต ในวันที่ ๑๓ เมษายน ที่ผ่านมา





* พระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันจัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ (๕ ธันวามหาราช) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล





* ๕ ธันวามหาราช ขอเชิญร่วมถวายภัตตาหารเพลพระนักศึกษาไทย และนานาชาติ จำนวน ๘๒ รูป และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรได้ที่ หอเสนคุปตลอล์จ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒





* กฐินสังฆประชาสามัคคี ณ หอเสนคุปตาลอจ์ด มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นำโดย พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


จิฑฑุ กฤษณะมูรติ (นักปราชญ์ชาวอินเดีย)

กฤษณมูรติ (Jiddu Krishnamurti) (ค.ศ. 1895 – 1986) ถือกำเนิดในครอบครัวพราหมณ์ ที่เมืองมัทนพาลี รัฐอันตรประเทศ อินเดียใต้ เมื่ออายุ 14 ปี ผู้นำสมาคมเทวญาณวิทยาได้พบเห็นเขาเล่นสนุกอยู่กับเพื่อนๆ บนชายหาดอัธยาร์ เมืองมัฑราส ดร.แอนนี่ บีเซ็นและลีดบีเตอร์ซึ่งเป็นผู้นำสมาคมเทวญาณวิทยาในเวลานั้น เชื่อว่าเด็กคนนี้จะเป็นผู้ค้นพบสัจธรรมและประกาศคำสอนใหม่ เพื่อความสงบสุขแก่มวลมนุษยชาติและนำสันติภาพมาสู่โลกในอนาคต บุคคลทั้งสองนี้เห็นพ้องกันและรับกฤษณมูรติมาเป็นบุตรบุญธรรม ในเวลาต่อมาเขาได้นำกฤษณมูรติไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อเตรียมตัวให้เป็นศาสดาของโลก
เมื่อ ค.ศ. 1929 เขาได้ประกาศเป็นอิสระจากสมาคมเทวญาณวิทยา เป็นอิสระจากคำสอนของทุกลัทธิความเชื่อ จากจารีตประเพณีทั้งหลายทั้งปวงและปรัชญาทุกระบบ เขาค้นพบว่าสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการแตกแยกและความทุกข์โศกแก่มวลมนุษย์ ถ้อยคำ ประกาศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก่นของคำสอน คือ
“สัจจะเป็นสิ่งที่ไร้ขอบเขต ไร้เงื่อนไขกำหนด ไม่อาจเข้าถึงได้ไม่ว่าโดยวิถีทางใด ๆ ทั้งสิ้น จะรวบรวมสัจจะขึ้นเป็นระบบระเบียบก็ไม่ได้ จะจัดตั้งองค์กรใด ๆ ขึ้นเพื่อนำพาหรือบีบบังคับผู้คนให้ปฏิบัติตามหนทางใดโดยเฉพาะก็ไม่ได้ หากองค์กรใดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์นี้ มันจะกลายเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวเป็นเครื่องค้ำยัน เป็นความอ่อนแอ เป็นพันธนาการ ทำให้ปัจเจกบุคคลพิกลพิการและเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาจากการค้นพบสัจจะอันเป็นที่สุดและไร้เงื่อนไขกำหนด”
“สิ่งที่ผมสนใจเพียงประการเดียวคือ ปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระปราศจากเงื่อนไขใดๆ อย่างสิ้นเชิง”
“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราได้สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ในโบสถ์หรือพิธีกรรมต่างๆ ทั้งหมดนั้นสร้างขึ้นด้วยความคิด ความคิดสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้น สร้างพระผู้ไถ่บาป สร้างวัดวาอารามในประเทศอินเดียและสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในวัด ความคิดได้สร้างสิ่งทั้งหลายที่เรียกกันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่กล่าวมานั้นคุณปฏิเสธไม่ได้ แต่ความคิดโดยตัวมันเองไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อความคิดสร้างพระเจ้าขึ้นมา พระเจ้าจึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น อะไรเล่าคือภาวะศักดิ์สิทธิ์ สภาวะนั้นจะเข้าใจได้หรือจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีอิสรภาพที่สมบูรณ์สิ้นเชิงจากความกลัวและความทุกข์โศก เมื่อมีความรู้สึกรักและความการุณย์อันเปี่ยมพร้อมด้วยปัญญาของมันเอง จากนั้นเมื่อจิตเงียบลงอย่างถึงที่สุด ภาวะศักดิ์สิทธิ์จึงจะเกิดขึ้นได้”

สุภาพสตรีเหล็กแห่งเอเชีย

นางอินทิรา คานธี มีชื่อเต็มว่า อินทิรา ปรียาท์ซินี เนห์รู เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ณ คฤหาสน์อานันท์ภวันท์ แห่งเมืองศักดิ์สิทธิ์ อัลละฮาบัด ทางภาคเหนือของอินเดีย เธอมีชื่อเรียกตอนเด็ก ๆ ว่า “ปรียาทาร์ซินี” แปลว่า “งดงามสบายตาเมื่อได้ชม” เพราะเมื่อครั้งเป็นเด็กเธอมีใบหน้าอันงดงามน่ารัก เด็กหญิงอินทิราเป็นลูกสาวคนเดียวของ ท่านเยาวหราล เนห์รู อดีตนายกฯ ผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย และมารดาชื่อ นางกมลา เนห์รู คุณปู่ของเธอชื่อ “โมติลาล เนห์รู” ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงมาก และเป็นผู้ร่วมมือคนสำคัญคนหนึ่งของ “ขบวนการกู้ชาติอินเดีย” คุณอาผู้หญิงของอินทิรา ชื่อ นางวิชัยลักษมี บัณฑิต เคยเป็น ประธานสมัชชาใหญ่หญิงคนแรกขององค์การสหประชาชาติ
นางอินทิราเติบโตมาอย่างที่ไม่เคยดูถูกคนอื่น เป็นเพราะว่า มีคนมาขอความช่วยเหลือจากบิดาของเธอบ่อยๆ โดยเฉพาะคนยากจน และบิดาได้สอนเธอว่า “จงช่วยเหลือพี่น้องชาวอินเดียของเราตามกำลังความสามารถ” และด้วยเหตุนี้เอง คำขวัญของเธอตอนเป็นนายกรัฐมนตรี คือ “ดิฉันคือผู้รับใช้ไม่ใช่นายของประชาชน” ในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1966 ขณะที่นางอายุได้ 49 ปี ได้ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงในสภา 355 ต่อ 169 เสียง ทำให้เธอได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรคนที่สามของอินเดีย
คานธีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1984 ได้เสียชีวิตลงโดยองครักษ์ชาวซิกข์ 2 คนของเธอ เนื่องจากนางอินทิราประสบปัญหาเป็นอย่างมากในขณะดำรงตำแหน่งนายก จนต้องสั่งปฏิบัติการ Operation Blue Star โดยใช้กำลังทหารเข้าโจมตีวิหารทองคำ ของชาวซิกข์ในเมืองอมริตสาร์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1984 ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของชาวซิกข์ส่งผลให้มีผู้ล้มตายหลายพันคน มีการเผาทำลายห้องสมุดของชาวซิกข์หลายแห่ง รวมทั้งสถานที่ประกอบศาสนกิจ
อย่างไรก็ตามชาวอินเดียและชาวโลกทั้งหลายก็ยังคงรู้จักและจดจำคุณงามความดีของเธอในฐานะ “สตรีเหล็กแห่งเอเชีย”

รพินทรนาถ ฐากูร


รพินทรนาถ ฐากูร (เบงกาลี: রবীন্দ্রনাথ ঠাকুর, Robindronath Thakur) (7 พฤษภาคม 2404 - 7 สิงหาคม 2484) มีสมัญญานามว่า "คุรุเทพ" เป็นนักปรัชญาพรหโมสมัช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกาลี เขาเริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี ครั้นอายุได้ 16 ปี ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานกวีนิพนธ์ภายใต้นามปากกา ภาณุสิงโห และเริ่มเขียนเรื่องสั้นกับบทละครในปี พ.ศ. 2420 ในช่วงปลายของชีวิต รพินทรนาถต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอังกฤษอย่างเปิดเผย และร่วมเคลื่อนไหวการประกาศเอกราชของประเทศอินเดีย ผลงานของเขาที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากงานกวีนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง ยังมีสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยวิศวภารตี
รพินทรนาถเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง ละครเพลง และเรียงความมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง และเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล
ผลงานของรพินทรนาถ อันเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป อาทิ คีตาญชลี บทกวีจันทร์เสี้ยว บทละครเรื่องจิตรา เพลงชาติอินเดีย เรื่องสั้นราชากับรานี เรื่องสั้นนายไปรษณีย์ พระกรรณะกับนางกุนตี ฯลฯ

บัวที่บานอยู่เหนือกาลเวลา


ดร.เอ็มเบดการ์ ถือกำเนิดมาในครอบครัวของคนจัณฑาลหรืออธิศูทร เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2434 ณ หมู่บ้านชื่ออัมพาวดี รัฐมหาราษฎร์ (บอมเบย์) ชื่อเดิม พิม ด้วยความที่เกิดในวรรณะต่ำจึงทำให้ได้รับความอยุติธรรมในทุกเรื่อง พิมจึงเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า “สักวันหนึ่งเราจะต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้นไปเพื่อให้พ้นจากภาวะอันต่ำต้อยนี้ให้ได้ และการที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะด้วย การศึกษา เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนจัณฑาลได้รับการยอมรับ” จากปณิธานที่ตั้งอยู่มั่นในใจ ส่งผลให้พิสอบได้คะแนนสูงสุดในทุกวิชา จนในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์เมื่อปี พ.ศ. 2455 ในเวลาไม่นานนักเขาก็สำเร็จการศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ช่วงเวลาที่เอ็มเบดการ์ยังเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ประเทศอินเดียตกอยู่ในความยึดครองของประเทศอังกฤษคน เอ็มเบดการ์ ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังคุกคามประเทศของตนเหล่านี้เป็นอย่างดีเขาจึงปณิธานว่า “ในชีวิตนี้เขามีภาระกิจที่จะทำอยู่ 2 อย่าง นั่นก็คือ หนึ่งทำลายระบบวรรณะ ช่วยให้ประเทศอินเดียเป็นเอกราชจากการยึดครองของอังกฤษ” จนสำเร็จการศึกษาแล้วจึงกลับมาเพื่อช่วยพัฒนาประเทศอินเดีย ความเป็นคนจริงที่ต่อสู้เพื่อคนทุกข์ยาก ทำให้เขาได้รับเชิญเข้าเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” ดร.เอ็มเบดการ์ ร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นของอินเดีย ต่อสู่กับจักรวรรดิอังกฤษ จนในที่สุดอินเดียก็ได้รับเอกราช เมื่อได้รับเอกราชแล้ว เอ็มเบดการ์รับต่ำแหน่งที่สำคัญที่สุด คือ การเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ
ดร.เอ็มเบดการ์ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะและทำพิธีปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่เมืองนาคปุระ ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2499 พิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะครั้งนี้มีคนจัณฑาลเข้าร่วมปฏิญาณด้วยนับแสน หลังการปฏิญาณตน เอ็มเบดการ์ได้รับยกย่องว่า “เป็นผู้เปิดประตูดินแดนภารตะเพื่อนำพระพุทธศาสนานำสู่มาตุภูมิ” พระพุทธศาสนาที่เลือนหายไปจากประเทศอินเดีย เป็นเวลากว่า 1,500 ปี จึงได้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง
“ชื่อของเอ็มเบดการ์จะต้องถูกจดจำต่อไปอีกชั่วกาลนานโดยเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อลบลางความอยุติธรรม ในสังคมฮินดู เอ็มเบดการ์ต่อสู้กับสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำต้องสู้ เอ็มเบดการ์ได้เป็นคนปลุกให้สังคมฮินดูได้ตื่นจากความหลับ”

มหาตมะ คานที


“The weak can never forgive. Forgiveness is the attribute of the strong.”
“คนอ่อนแอไม่เคยให้อภัย การรู้จักให้อภัยเป็นคุณลักษณะของคนเข้มแข็ง”
มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) มีชื่อเต็มว่า โมฮันดาส ครามจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) เป็นผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดีย เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 และถูกลอบสังหารเสียชีวิตในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2491 รวมอายุได้ 78 ปี
มหาตมะ คานธี เป็นผู้นำคนสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย จากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร โดยใช้วิธีอหิงสา ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงแบบสันติที่ได้รับการยกย่อง
มหาตมะ คานธี เริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางความคิดทางการเมืองในปี พ.ศ.2449 เป็นผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของประเทศอินเดียจากเครือสหราชอาณาจักร จนประเทศอินเดียได้รับเอกราชในปี พ.ศ.2490 โดยเขามีความเชื่อที่มั่นคงเกี่ยวกับการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรง และความอดทนตามหลักศาสนา ที่เรียกว่าวิธี "อหิงสา" โดยเขาจะอดอาหารประท้วงจนความรุนแรงยุติลง
ไอน์สไตน์ กล่าวถึงคานธีว่า "คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้อยู่จริงบนโลกมนุษย์นี้"
มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ได้กล่าวไว้ว่า "พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า คานธีมอบวิธีการ"

พระไทยกับหอเสน

พระนักศึกษาไทยกับหอเสนคุปตะ

ในปี 2512 มีพระนักศึกษาไทยที่จบการศึกษาจากสถาบันบาลีวนาลันทาและจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสอง เดินทางไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยพาราณสีจำนวน 30-40 รูป ทำให้หอพักนักศึกษานานาชาติไม่เพียงพอแก่พระนักศึกษาเหล่านั้น พระมหาเกียรติ สุกิตติ ป.ธ. 7 ได้ปรึกษาหารือกับเจ้าคุณพระกิตติสารมุนีพระมหาอดิศักดิ์ ทองบุญและพระนักศึกษารูปอื่นๆ เพื่อขออนุมัติหอเสนคุปตะ จากทางมหาวิทยาลัยให้เป็นที่พำนักของพระไทย ซึ่งขณะนั้น ว่างเปล่าไม่มีเจ้าหน้าที่หรือครูอาจารย์อาศัยอยู่ (และทางมหาวิทยาลัยกำลังจะจัดตั้งเป็นที่พักของนักศึกษาคณะพยาบาลและแพทย์ศาสตร์) และได้รับการสนับสนุนจากท่านศาสตราจารย์ เอ เค นารายณ์ ( Prof A. K. Narain ) อาจารย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยภารตวิทยา ( College of Indology) ซึ่งเป็นชาวพุทธ ช่วยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง ในที่สุดทางมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้พระนักศึกษาไทยเข้าพำนัก ณ หอเสนคุปตะ แห่งนี้ โดยนับเข้าในหอพักนานาชาติเพิ่มจากหอพักชายนานาชาติ และหอพักหญิงนานาชาติ ดร.บุณย์ นิลเกษ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของที่นี้ เล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านดำรงสมณเพศ พ.ศ. 2512 เป็นพระนักศึกษาไทยรุ่นแรกที่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่หอเสนคุปตะนี้

ปัจจุบันมีพระนักศึกษา นักศึกษาไทย จำนวน ๘๕ รูป/ท่าน เป็นพระสงฆ์ ๖๖ รูป แม่ชี ๒ ท่าน และฆราวาส ๑๕ โดยมี พระครูใบฎีกามานิตย์ เขมคุตฺโต เป็นประธานสมาคมฯ

หอเสนคุปตะ

ประวัติของหอเสนคุปตะ

เสนคุปต ลอดจ์ หรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “SEN GUPTA LODGE” คำว่า SEN GUPTA เป็นนามสกุลหรือตระกูล และคำว่า LODGE แปลว่า บ้าน สถานที่อยู่หรือเคหะสถาน เมื่อแปลรวมกันจะได้ความว่า เคหะสถานของตระกูลเสน คุปตะ เพราะว่า สถานที่แห่งนี้ ท่าน ศาสตราจารย์มโนรันชัน เสนคุปตะ ( Professor Monoranjan Sen Gupta ) อาจารย์สอนในวิทยาลัยวิศวกรรม (Engineering College ) ได้บริจาคเงินเดือนของท่านก่อสร้าง และพำนักอยู่ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2447 (ค.ศ.1904) ณ เมืองรังคปูร์ รัฐเบงกอล ในสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศบังคลาเทศ ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีและวิศวกรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2487-2511 ก่อนเกษียณอายุท่านได้รับตำแหน่ง คณบดีของสถาบันเทคโนโลยีและวิศวกรรม ขณะท่านมีอายุ 64 ปี และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2539 ที่บ้านพักของท่านคือวินายกะ กัมมัชชา ( Kamchchha Area)ในเมืองพาราณสี สิริอายุได้ 92 ปี

ประวัติมหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู

ประวัติความเป็นมา

มหาวิทยาลัยบาณาราฮินดูหรือ Banaras Hindu University ตั้งอยู่ที่เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ชาวภารตะ ถือว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย และใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,500 เอเคอร์ (3,750 ไร่) ถ้าวัดตามแนวกำแพงล้อมรอบมหาวิทยาลัยประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร และเป็นมหาวิทยาลัยที่ควบคุมการบริหารโดยรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางศิลปวัฒนธรรมอินเดีย และวิชาการแขนงต่างๆ ทั่วอินเดีย และจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเดินทางมาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นจำนวนมาก

จุดเริ่มต้นของ Banaras Hindu University หรือเรียกสั้นๆ ว่า B.H.U. เกิดขึ้นในประกายความคิด หรือจินตนาการของมหาบุรุษท่านหนึ่ง นามว่า ท่านบัณฑิตมะดัน โมฮัน มาลวิยะ ท่านเกิดเมื่อ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1861 (พ.ศ.2404) ที่เมืองอัลลาฮาบาด (Allahabad อยู่ห่างจากพาราณสี 125 กิโลเมตร) ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวที่เคร่งครัดในศาสนามากครอบครัวหนึ่ง และถึงแม้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวไม่สู้จะดีนัก แต่ท่านก็เป็นผู้ใคร่ในการศึกษาหาความรู้ จนกระทั่งสามารถเรียนจบในระดับปริญญาตรี ทางด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองอัลลาฮาบาด และหลังจากนั้นไม่นานท่านก็ตัดสินใจหันเหชีวิตเข้าสู่วงการการเมือง โดยเข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชคืนจากอังกฤษ

อินเดียในสมัยนั้น ทั่วทุกหัวระแหงคุกรุ่นไปด้วยกลิ่นไอแห่งชาตินิยม ซึ่งนำโดยกลุ่มพรรคองเกรส ท่านมาลวิยะได้อุทิศตนเพื่องานอันยิ่งใหญ่นี้ และเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของความเป็นอินเดียให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนรุ่นใหม่ จากการได้ลงพื้นที่ ทำให้ท่านได้สัมผัสกับความจริงที่มีอยู่ในขณะนั้น และได้ประจักษ์ว่า เอกราชที่แท้จริงนั้น ไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งเอกราชจากประเทศที่ปกครองอยู่เท่านั้น แต่หมายถึง การสามารถรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานับพันๆปีไว้ได้ การที่จะทำอย่างนี้ได้ จะต้องปลูกฝังจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ขึ้นมารองรับ เพื่อสร้างสังคมใหม่นั่นคือ จะต้องมีมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ

มหาวิทยาลัยในอุดมคติของท่านมาลวิยะนั้น จะต้องมีลักษณะเด่น 2 ประการคือ นำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกตะวันตกมาผนวกผสมผสานให้เข้ากับภูมิปัญญาของโลกตะวันออกคือไม่สุดโต่งตามแบบตะวันตกมากเกินไป และไม่ยึดติดกับความคิดเก่าๆ ของตนเองมากเกินไป ต้องรู้จักเลือกเอาสิ่งที่ดีๆ จากโลกทั้งสอง มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้

แนวความคิดของท่านมาละวิยะ เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อท่านได้เผยแพร่แนวความคิดนี้ออกไปทั้งการพูดและการเขียน มหาชนตั้นแต่มหาราชจนกระทั่งถึงยาจก ขานรับแนวความคิดนี้เป็นจำนวนมาก และร่วมบริจาคเงินให้แก่ท่านตามกำลังศรัทธา

กล่าวกันว่า ขอทานท่านหนึ่งได้นำเงินที่ขอมาได้ตลอดวันนั้นไปมอบให้กับท่านด้วยความศรัทธาอย่างยิ่ง ตัวเอง(พร้อมทั้งครอบครัว) จะอดสักวันก็ไม่เป็นไร ท่านมาละวิยะจึงได้สมญานามใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งว่า ขอทานของขอทาน

เมื่อ ปี ค.ศ. 1900 ( พ.ศ.2443) ท่านมาละวิยะได้จัดประชุดระดมความคิดที่จะจัดสร้างมหาวิทยาลัยในฝันจากบรรดานักปราชญ์และท่านผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย ที่เมืองอัลลาฮาบาด และได้การสนับสนุนอย่างแข่งขันจากมหาราชเมืองพาราณสี นามว่า ประภู นารายณ์ ซิงห์ (Prabhu Narain Singh) และผู้สำเร็จราชการแห่งรัฐอุตตรประเทศ คือท่านเซอร์ แอนโทนี่ แมคโดนัล ( Sir Antony Mcdonald) ดังนั้น สภากรรมการมหาวิทยาลัยฮินดูก็ได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

เมื่อจะจัดสร้างจริงๆ สถานที่ที่เลือกก็คือ เมืองพาราณสีในพื้นที่กว้างขวางถึง 3พัน กว่าไร่ สาเหตุที่เลือกเอาเมืองพาราณสี เพราะว่า ตัวเมืองพาราณสีเป็นศูนย์กลางหรือหัวใจ ของศาสนาฮินดูและคนฮินดูซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ประมาณ 79%) และมหาวิทยาลัยที่จะจัดขึ้นก็มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมอินเดียโดยตรง

จนกระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยลัยก็ได้จัดตั้งพิธีวางศิลาฤกษ์มหาวิทยาลัยขึ้น นั่นเป็นเครื่องหมายว่า Banaras Hindu University ได้เริ่มขึ้นในปีนั้นเอง ขณะที่กำลังดำเนินก่อสร้างอาคารต่างๆอยู่นั้น ส่วนหนึ่งก็ได้เปิดทำการเรียนการสอนขึ้น โดยนำเอา 3 วิทยาลัย (Colleges) มารวมเป็น B.H.U. คือ

1. Centran Hindu College

2. Centren Hindu Boys’ School

3. Rannir Sanskit Palhshala

และคณะที่เปิดสอนเปิดเรียนในตอนเริ่มต้นมี 5 คณะคือ

1) ตะวันออก ศึกษา ( Oriental Learning)

2) เทววิทยา ( Theology)

3) ศิลปศาสตร์ (Arts)

4) วิทยาศาสตร์ ( Science) และ

5) กฎหมาย ( Law )

ครั้งแรกเปิดการเรียนการสอนที่ Kamachcha เป็นการชั่วคราวก่อน หลังจากที่สร้างอาคารเรียนต่างๆเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ทยอยย้ายกันเข้ามาเปิดเรียนภายในตัวมหาวิทยาลัยทั้งหมด

จากเริ่มแรก 5 คณะ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดคณะต่างๆ ให้นักศึกษาได้เลือกเรียนถึง 3 สถาบัน 14 คณะ และแยกเป็นภาควิชาสาขาต่างๆ อีก 114 สาขา มีนักศึกษามาจากทั่วทุกภาคทุกรัฐของอินเดีย และจากหลายประเทศทั่วโลกได้มาอยู่เป็นจำนวนมาก (ประมาณ 20,000 คน) คณาจารย์ 1,700 ท่าน และพนักงานเจ้าหน้าที่ทำงานแผนกต่างๆรวมทั้งคนงาน ( non– teaching ) อีกประมาณ 5,000 คน

จากนั้น ค.ศ. 1916 (พ.ศ.2459) จนถึงทุกวันนี้ ค.ศ. 2009 (พ.ศ.2552) นับเป็นเวลา 93 ปีพอดีที่มหาวิทยาลัยได้เจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาออกมา เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่อุดมไปด้วยผล ให้บรรดาหมู่วิหคน้อยใหญ่ ได้เข้ามาอาศัยและเสวยภักษาผลอย่างอิ่มหน่ำสำราญ

ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยได้จัดดำเนินตามปณิธานของท่านผู้ก่อตั้ง คือท่านบัณฑิตมะดัน โมฮัน มาลวิยะ ในการศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาของอินเดีย เช่น ศาสนา ปรัชญา จักรวาลวิทยา อายุรเวท เป็นต้น ถือว่า B.H.U. เป็นแหล่งที่ดีที่สุด แม้แต่ในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีของที่นี่ก็เป็น 1 ใน 4 ของสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอินเดีย

B.H.U. เป็น1 ใน 12 มหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลกลาง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนต่างๆจากรัฐบาลกลางอย่างเพียงพอ ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งๆที่เก็บค่าเล่าเรียน ค่าพักในอัตราที่ค่อนข้างถูกมาก หากเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ

เมื่อมองย้อนหลังกลับไป 83 ปีที่แล้ว B.H.U. เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น แต่มาบัดนี้ B.H.U. มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ พร้อมที่จะสนองความต้องการของท่านผู้ใคร่ต่อการศึกษาทั้งหลายที่มาจากทั่วทุกมุมโลก มหาวิทยาลัย บาณารัสฮินดู ที่เราท่านได้เห็นได้สัมผัสอยู่นี้ เกิดขึ้นจากความฝัน จากความมุ่งมั่นที่จะกระเทาะเปลือกแห่งอวิชชาให้ออกจากจากใจของผู้โง่เขลาทั้งหลาย และแรงบันดาลใจของมหาบุรุษนามว่า ท่านบัณฑิต มะดัน โมฮัน มาลวิยะ ผู้ซึ่งมีปณิธานอันแน่วแน่ว่า


“I do not for a royal realm aspire,

For release or for paradise.

To serve those bent with grief, I desire,

And calm their sorrows and help them rise.”

ข้าฯ ไม่ปรารถนาความสุขในวัง ความหลุดพ้น หรือสรวงสวรรค์

ข้าฯ ปวารณาที่จะช่วยคนที่ประสบทุกข์ บรรเทาความโศกตรมและช่วยให้เขาลุกขึ้น

 

ผู้ติดตาม

ออนไลน์หน้านี้

free counters