.

.
"สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดสุข"
ข่าวประชาสัมพันธ์



ขอประกาศเลิกอัฟเดทข้อมูลที่Blogแห่งนี้
สามารถเข้าไปใช้งาน website อย่างเป็นทางการได้ที่
http://www.tsa-bhu.org/


ข่าวเด่น

* ขอแสดงความยินดีแด่.. พระครูใบฎีกา ดร. มานิตย์ เขมคุตโต , พระมหา ดร. ธีรชัย ปุญฺญชีโว , พระ ดร. ราเชนทร์ วิสารโท ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ B.H.U. ในปี ๒๕๕๓






* สมาคมพระนักศึกษาไทย มหาววิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันลงอุโบสถ ที่วัดไทยสารนาถ พร้อมเจริญพระพุทธมนต์ ณ ธัมเมกขสถูป เนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์





สมาคมพระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสีได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีสงกรานต์ "๑๓ เมษา เสนคุปต้ามหาสงกรานต์" ประจำปี ๒๕๕๓ ณ หอเสนฯ โดยมีคณาจารย์ทางมหาลัย และต่างชาติเข้าร่วมนับร้อยชีวิต ในวันที่ ๑๓ เมษายน ที่ผ่านมา





* พระนักศึกษา นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี ร่วมใจกันจัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ (๕ ธันวามหาราช) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล





* ๕ ธันวามหาราช ขอเชิญร่วมถวายภัตตาหารเพลพระนักศึกษาไทย และนานาชาติ จำนวน ๘๒ รูป และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรได้ที่ หอเสนคุปตลอล์จ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒





* กฐินสังฆประชาสามัคคี ณ หอเสนคุปตาลอจ์ด มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นำโดย พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


สะเดา

ฉันจำได้ลืนลาง นานมาแล้วที่ไม่ได้ป่ายปีนต้นไม้ แต่มาวันนี้ แม่ฉันอยากได้ดอกสะเดาลวกไปถวายพระและให้ญาติโยมที่มาวัดทานกันให้อร่อย ตามประสาคนวัยสูงอายุ ว่าไปนั้น! แม่ร้องขอให้ฉันไปเรียกเด็กชายที่รู้จักให้มาช่วยปีนต้นสะเดาเพื่อเอาดอกสะเดาลงมาตามวัตถุประสงค์ แต่เนื่องด้วยความขี้เกียจของตัวฉันเองที่จะไปเรียกเด็กชายพร้อมกับบ้านที่อยู่ห่างไกลกันเป็นกิโลแม้ว ฉันเลยสวมความจำเป็นปลอมตัวเป็น “นายลิง” ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้เสีย โอ้!! ฉันเริ่มคลางในใจ ต้นก็ไม่สูงเท่าไหร่เมื่อเทียบอายุต้นสะเดา...อ่อนกว่าฉัน 20 ปี เอง ฮ่า! ฮ่า! ฮ่า! ฉันใช้พลังแขนคว้ากิ่งที่แข็งแรงแล้วดันตัวเองปีนป่ายขึ้นไปบนต้นจนสำเร็จระยะเวลาร่วม 10 นาที จากระยะทางพื้นดินมุ่งสู่กลางลำต้น จิ๊บๆ 8 เมตร กว่าๆ ฉันหอบ หัวใจสั่น เหงื่อแตกพลั่ก ทั้งฝ่ามือและฝ่าเท้า ฉันไม่ได้ร้อน อากาศรอบข้างมีลมโชยของยามหนาวในตอนเย็นย่ำ แรงของลมปะทะมาอย่างเอื่อยๆ แต่ฉันกอดต้นสะเดาไว้แน่น เพราะกลัวจะร่วงลงสู่พื้น ฉันเริ่มปฏิบัติการ “นายลิง” โดยค่อยๆ ใช้แขนที่เหลือคว้ากิ่งที่มีดอกสะเดาเป็นพุ่มหักให้ร่วงลงไปยังพื้นที่มีแม่รอเก็บ ฉันเด็ดก้านดอกสะเดา แล้วก็ เด็ด! เด็ด! เด็ด! จนมืออันสั้นได้มาตรฐานของฉันมีรัศมีที่เอื้อมไม่ถึงก้านดอกสะเดาอีกต่อไปแล้ว ฉันจึงร้องถามแม่ว่า “พอรึยัง...แม่”-“ยัง” นั้นคือคำตอบของแม่ แม่ส่งไม้สอยแถมท้าย ฉันใช้ความสามารถที่เหลือคว้าไม้สอยอีกแขนยังโอบกอดต้นไว้แน่น พร้อมใช้พลกำลังของอีกแขนจับไม้ สอยก้านดอกสะเดาที่อยู่ห่างตัวฉันออกไปหลายช่วงตัว สอยไป! สอยไป! สอยไป! ดอกสะเดาร่วงหล่น ร่วงหล่น ภาพที่สวยงามยามเย็นที่น่าประทับใจที่สุด แม่ก้มเก็บก้านดอกสะเดาอยู่ด้านล่างนั้น! ผมของแม่เต็มไปด้วยดอกสะเดาดอกเล็กเล็ก สีขาวขาว กระจายอยู่เต็มผม แม่เราสวยจัง ! ฉันร้องถามแม่อีกครั้ง “พอรึยัง...แม่”-“ยัง” ยังเป็นคำตอบของแม่อยู่ ฉันสอยจนหมดความสามารถ“นายลิง” เหนื่อยหอบเหมือนวิ่ง 1,000 เมตร ขาสั่นเหมือนใจจะขาด แล้วมีเสียงสวรรค์ของแม่ร้องว่า “พอแล้ว...เยอะแล้ว” สมองของฉันเริ่มประมวลวิชาฟิสิกส์เพื่อที่จะนำมวลสารขนาดใหญ่ลงสู่พื้น...ได้คำตอบ...ฉันปีนป่ายด้วยพลังมหาศาลพร้อมกับพรสวรรค์ในการไต่เหมือนมดแดงฉันก็ถึงพื้นดินจนสำเร็จ หัวใจยังเต้นระส่ำเหมือนเดิม ขาอ่อน เข่าอ่อน ชาไปหมดทั้งร่าง รวบรวมสติได้ ไปเก็บก้านดอกสะเดาที่หล่นกระจัดกระจายรวบรวมให้แม่จนหมด แล้วแม่ก็เด็ดส่วนของใบทิ้งเก็บแต่ส่วนของก้านดอก (แม่บอกว่ามันอร่อย) ไปลวก ฉันจึงกลับมายืนแหงนดูต้นสะเดาอีกครั้ง ฉันขึ้นไปได้ไง! แต่มีคำตอบอยู่ข้างๆ กาย ก็ “แม่” ไง! แม่บอกไว้เป็นลาง “เอาไว้คราวหน้าค่อยขึ้นไปเอาอีก” ฉันได้แต่ยิ้มแบบ “นายลิง” อยู่ในใจ สะเดา! สะเดา! สะเดา! มาเรียนรู้ประโยชน์ของสะเดากันดีกว่า...
สะเดามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica Juss. Var. siamensis Valeton
จัดอยู่ในพืชวงศ์ MELIACAAE
มีชื่อสามัญรู้จักกันในนาม Neem Tree
มีชื่อทางภาษาอังกฤษว่า Indian Lilac, Margosa
มีชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือ (ประเทศไทย) สะเลียม
ภาคอีสาน (ประเทศไทย) กะเดา, กาเดา
ภาคใต้ (ประเทศไทย) กะเดา, ไม้เดา, เดา
ประเทศอินเดียเรียกขานตามภาษาฮินดีว่า Nim, Nimb
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูง 12-15 เมตร ขึ้นได้ในป่าหรือปลูกไว้ตามบ้าน ทุกส่วนมีรสขม เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกของลำต้นสีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ แตกระแหงเป็นร่องเล็กๆ ตามต้นแต่เปลือกของกิ่งอ่อนเรียบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเวียนเป็นเกลียวตรงปลายกิ่ง ใบย่อยรูปหอก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยปลายมนบ้างแหลมบ้าง ใบอ่อนรสขมเล็กน้อย ตอนปลายกิ่งผลิใบใหม่พร้อมกับผลิดอกในฤดูหนาว ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและตรงปลายกิ่ง ดอกสีขาว ดอกตูมรูปร่างกลม สีเขียวอ่อน หรือขาวอมเขียว ผล กลมรี หรือกลมยาวเล็กน้อย อวบน้ำ ผลแก่สีเหลือง ภายในผลมี 1 เมล็ด ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอกอ่อนนำมาลวกรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือน้ำปลาหวาน หรือรับประทานสด การปลูก สะเดาเป็นไม้ดั้งเดิมของเขตเอเชียอาคเนย์ พบทั่วไปในประเทศ พม่า อินเดีย สะเดาพบในป่าเบญจพรรณและป่าแดง มักขึ้นปะปนกับไม้ใหญ่ สะเดาเป็นพันธุ์ไม้ปลูกง่ายโตเร็ว และเป็นพันธุ์บุกเบิกในที่แห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง
สรรพคุณยา ใบอ่อน แก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองไม่ดี และแผลพุพอง
ใบแก่ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และฆ่าแมลงศัตรูพืช
ก้าน แก้ไข้ บำรุงน้ำดี และแก้ร้อนในกระหายน้ำ
ดอก แก้พิษโลหิต พิษกำเดา แก้ริดสีดวง คันในลำคอและ บำรุงธาตุ
ลูก บำรุงหัวใจให้เต้นเป็นปกติ และฆ่าแมลงศัตรูพืช
สำหรับชาวอินเดีย พบเห็นการใช้สะเดาโดยทั่วไปเป็น “ยาสีฟันประจำบ้าน” ซึ่งเราจะเห็นก้านสะเดาถูกตัดขนาดพอประมาณวางขายทั่วบริเวณถนนในยามเช้า บริษัทเวชภัณฑ์ยาของอินเดียเช่น Good Care และ Himalaya นำสะเดามาสกัดเป็นยาบำรุงร่างกาย และส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่เหลวล้างหน้า ครีมพอกหน้า สบู่เหลวล้างมือ สรรพคุณของยาเม็ดสะเดาสกัดบำรุงร่างกาย เช่น บำรุงเลือดทำให้ผิวพรรณสวยงาม ป้องกันการเกิดสิว บำรุงระบบภูมิคุ้มกัน ต้านทานไวรัส ทำลายหนอนพยาธิในลำไส้ เป็นต้น
ประโยชน์สะเดามีมากมาย ขึ้นกับเราเองว่าจะเลือกนำส่วนไหนของต้นสะเดาหรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปออกมาวางจำหน่ายของสะดามาใช้ เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของตัวเราเอง
เด็กน้อย Botany วท.บ.,วท.ม.(มช.)

นริตต้า กาจัล

อินเดีย คำ ๆ นี้หากใครได้ยินแล้ว ก็มักจะนึกถึงคำว่า “มนต์ขลังแห่งอินเดีย” จึงทำให้หลายต่อหลายคน ต่างวาดฝัน อยากจะมาพบกับ มนต์ขลังบนผืนดินถิ่นฮินดูแห่งนี้ นั่นเพราะอินเดีย เป็นดินแดนแห่งความลึกลับ ที่แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ บางคนมาแล้วไม่อยากกลับ บางท่านกลับไปแล้วอยากมาอีก ให้มากครั้งที่สุด เท่าที่จะมีเวลามาได้
ชาวอินเดีย มีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นปึกแผ่น ยากยิ่งนักที่ชาวต่างชาติจะเข้าถึงและจะคงอยู่คู่กับพวกเขาไปตราบนานเท่านาน แม้แต่ประเทศมหาอำนาจบางประเทศเองก็ตามที ก็ไม่สามารถที่จะครอบครองวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของอินเดียไปได้ เพราะอินเดียเป็นดินแดนแห่งมหาอาณาจักรที่รวบรวม ซึ่งความหลากหลาย ทั้งทันสมัย ล้าสมัย เก่า ใหม่ ให้รวมอยู่ด้วยกันอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
แล้วอะไรหล่ะ ที่เป็นมนต์เสน่ห์ ที่ทำให้ผู้คนต่างหลงใหล.....
ผู้หญิงอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งที่รักษาประเพณี วัฒนธรรมของบรรพบุรุษของตนไว้ได้ อย่างมั่นคงและภาคภูมิ ทั้งสาวน้อย สาวใหญ่ของอินเดียในอดีต รู้จักแต่งตัว ใช้เครื่องประดับ ตามยุคตามสมัย เท่าที่จะมีกำลังหามาได้ ซึ่งแสดงถึงฐานะและชั้นวรรณะของแต่ละคน ปัจจุบันหญิงสาวอินเดียมีการพัฒนาขึ้น ซึ่งจะอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ถึงกับฟู่ฟ่าจนเกินไป เรียกว่ามีความทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังคงความเป็นอินเดีย ที่แฝงด้วยมนต์เสน่ห์อย่างเหนียวแน่นไว้ไม่จือจาง
ในคัมภีร์พระเวทภาษาสันสกฤต ซึ่งถือว่าเป็นภาษาโบราณของอินเดีย ได้กล่าวไว้ สำหรับหญิงสาวอินเดีย ที่จะต้องใช้เครื่องประดับ ๑๖ อย่าง ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของหญิงสาวอินเดีย เครื่องประดับ ๑๖ อย่างเหล่านี้ ประกอบด้วย
ข้อมือ, ตุ้มหู, ดอกไม้ประดับผม, กำไล, แหวน, กำไลแขน-ปลอกแขน, ผ้ารัดเอว, กำไลเท้า, ผงทาตาหรือคิ้วที่ทำให้ดำ, แหวนสวมนิ้วเท้า, สีย้อมมือย้อมเท้า (นิยมสีแดง), น้ำหอม, แป้งผสมกลิ่นจันทร์, เครื่องนุ่งห่มบนล่าง, ส่าหรี, และกาจัล ฯลฯ
กาจัล (kajaan) เป็นหนึ่งใน ๑๖ อย่าง ที่เราไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไรนัก คนอินเดียเขาจะใช้กาจัลทาแก้ปวดเมื่อย โดยเฉพาะจะทารอบ ๆ ดวงตา จนกระทั่งนัยน์ตา คนอินเดียเขาจะมีความเชื่อว่า เมื่อทากาจัลแล้วจะทำให้นัยน์ตามีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่เป็นโรคตาได้ง่าย ที่พิเศษไปกว่านั้น จะทำให้มีพลังบางอย่างแฝงอยู่ที่นัยน์ตา เรามักจะเห็นคนอินเดียส่วนใหญ่ มีขอบตาดำ ๆ นั่นไม่ใช่เพราะนอนดึก หรือทำงานหนัก แต่เป็นเพราะคนอินเดีย เขาใช้กาจัลมาตั้งแต่เด็กเล็ก พอโตขึ้นขอบตาเลยดูคล้ำ ๆ แต่เวลาที่เรามองดูแล้ว เหมือนจะมีพลังบางอย่างแฝงอยู่จริง คนอินเดียเขามีกระบวนการทำกาจัล ซึ่งจะมีขั้นตอน ที่ละเอียดพอสมควร โดยจะเริ่มจากการนำมะพร้าวมาเผาจนเป็นสีดำ ใส่ส่วนประกอบบางอย่างมีเนยเป็นต้น เสร็จแล้วนั่นจึงเรียกวากาจัล คนอินเดียถือว่ากาจัล เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ล้ำค่าและหวงแหนมาก ยากนักที่เผยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงกรรมวิธีของการทำกาจัล ปัจจุบัน kajaan มีขายตามร้านทั่วไป มีทั้งตลับเล็กและตลับใหญ่
หญิงสาวอินเดียนั้น จะนำกาจัลมาใช้เป็นเครื่องสำอาง โดยจะใช้ทาคิ้วหรือขนตา ทำให้ดูดำขลับสวยงาม มีมนต์เสน่ห์ อย่างที่เราเคยได้ยินคำว่า “ผิวพม่านัยน์ตาแขก” กาจัลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หญิงสาวชาวอินเดีย มีนัยน์ตาที่ดูแล้ว มีมนต์เสน่ห์ ไม่แพ้ชาติไหน ๆ เลยทีเดียว และในขณะเดียวกัน กาจัล จึงเป็นทั้งสมุนไพร เป็นทั้งเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ล้ำค่าของชาวอินเดียมาช้านาน
หญิงสาวอินเดีย เวลาแต่งตัว ก็มักจะมีเครื่องประดับ ๑๖ อย่างนี้เสมอ โดยเฉพาะเวลาเต้นรำ สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือกาจัล เพราะมีความเชื่อว่า จะทำให้นัยน์ตามีพลัง ทำให้ต้องมนต์เสน่ห์ของตน เพราะคนอินเดียมีท่วงท่าการเต้นรำที่หลากหลาย รูปแบบของการเต้นรำของอินเดียเป็นแบบคลาสสิคเฉพาะของชาวอินเดีย จึงเรียกการเต้นรำนั้นว่า “นริตต้า”
นริตต้า เป็นต้นกำเนิดของชื่อการเต้นรำของอินเดีย ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นส่วนย่อยได้อีกมาก เช่น การเต้นรำแบบนาฏยะ นาฏยะ คือส่วนย่อยของนริตต้า ซึ่งเกิดขึ้นภายในอินเดีย มานานกว่า ๕๐๐ ปี พร้อม ๆ กับกาจัล ที่เป็นเสมือนว่าจะต้องเป็นของคู่กัน การเต้นรำแบบ นริตต้า ของหญิงสาวอินเดีย จะมีพื้นฐานการเต้นรำอยู่ ๔ อย่าง พื้นฐาน ๔ อย่างที่ว่า คือ ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยจะรวมเข้าในท่วงท่าที่เต้นรำทั้งหมด หญิงสาวอินเดีย เวลาเต้นรำ เขาจะมีพลังบางอย่าง ที่แฝงอยู่ในตัวและท่วงทำนองการเต้น จึงทำให้มีมนต์เสน่ห์ ที่แฝงด้วย พลังแห่งธาตุทั้ง ๔ ที่กลมกลืนกับเครื่องประดับ ทั้ง ๑๖ อย่าง เหมือนกับต้องมนต์เสน่ห์ ให้เพลิดเพลินกับการได้สัมผัส กับกลิ่นอายของดินแดนแห่งนี้
อินเดีย เป็นดินแดนแห่งความลึกลับ เป็นดินแดนที่มีมนต์ขลัง จึงไม่แปลกเลยที่หลาย ๆ คน ต่างวาดฝัน อยากจะมาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของอินเดีย ที่ทำให้ทั่วทักทวีปต่างหลงใหล กับการได้สัมผัสกับกลิ่นอายของดินแดนแห่งนี้ และต่างวาดฝันไปต่าง ๆ นานา ที่จะได้สัมผัสเข้าสักวันหนึ่ง
นั่นคือมนต์เสน่ห์ของอินเดีย หญิงสาว นริตต้า กาจัล.....

สตรีที่สวยที่สุดบนผืนภิภพ

โดย...เมย์ เมย์ จัง
กล่าวถึงสตรีรูปงามทรงเสน่ห์ บริบูรณ์ด้วยลักษณะงามทั้งภายนอกภายใน หลายคนคงนึกถึงสตรีที่ผู้มีความงามที่เคยสดับมา ถ้าในสมัยพุทธกาลก็คงเป็นนางวิสาขา สำหรับชาวจีนก็คือนางซาซี ผู้มีความงามหยดย้อยหาที่ติมิได้ หรือแม้กระทั่งคลีโอพัตราของชาวกรีก ผู้ทรงเสน่ห์ให้บุรุษแม้ร่างกายชายชาตินักรบยังจิตใจอ่อนไหวได้
แล้วท่านล่ะ คิดว่าใคร ?
ถ้าให้เลือกสตรีที่กล่าวมา หลายคนคงเลือกนางวิสาขา เพราะนางวิสาขามีความงามประกอบไปด้วยเบญจกัลยาณีคือความงาม๕ ประการ เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากเบญจกัลยาณีซึ่งเป็นความงามภายนอกแล้ว นางวิสาขายังมีความงามภายในอีกด้วย คือจิตใจที่งดงาม มีศรัทธาในพระพุทธศาสนายากจะหาสตรีผู้ใดเปรียบ
แต่ทว่า เมื่อเอ่ยถึงสตรีอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีสำหรับผู้ศึกษาวรรณกรรมพุทธศาสนา จะเห็นว่ามีความงดงามเป็นเลิศอย่างแท้จริงโดยไม่มีผู้ใดจะปานเปรียบได้...แม้กระทั่ง นางวิสาขามหาอุบาสิกา
นางผู้นี้เป็นใคน ?
นางผู้นี้เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ในปฐมสมโพธิกถาพรรณนาไว้ว่า “พระนางทรงพระอุดมรูปกายินทรีย์อันงามโดยยิ่ง หาหญิงอื่นในพื้นสากลโลกธาตุจะมีสิริวิลาสเสมอหามิได้” และกล่าวอีกว่า “พระธิดานี้ ทรงพระอุดมรูปสิริวิลาส จะปูนเปรียบปานเสมอสองนั้นหามิได้ ทรงซึ่งนารีลักษณะ ๖๔ พร้อมบริบูรณ์ เป็นเอกอัครรัตนกัญญา ตั้งแต่อโธทิศาภาคอเวจีตราบเท่าถึงอุทธังคทิศภวัคคพรหมเป็นที่สุด มิได้มีเทพมนุษย์นารีใดจะเปรียบปาน” จะเห็นความแตกต่างระหว่างพระราชธิดานี้กับนางวิสาขา มิใช่ความแตกต่างระหว่างลูกกษัตริย์กับลูกเศรษฐี ต่างกันที่นางวิสาขามีความงามเบญจกัลยาณี ๕ ประการ ต่างกันที่พระธิดาพระองค์นี้มีอิตถีลักษณะถึง ๖๔ ประการ จะงดงามเท่าใดก็ดูที่ข้อความว่า
“...มิได้มีเทพยดามนุษย์นารีใดจะเปรียบปาน”
ความพรรณนาต่อไปว่า “พระราชธิดาได้ทรงบำเพ็ญทานมาแต่ในกาลก่อน”
“อันว่าบุรุษทั้งหลายได้เห็นซึ่งพระสรีรรูปก็ถึงซึ่งเคลิ้มสติสมปฤดีหลงใหล หาสติสัมปชัญญะมิได้ แม้บริโภคโภชนาหารอยู่ก็เปิบคำข้าวใส่นาสิกและกรรณและบนศีรษะให้สำคัญว่าใส่เข้าปาก ถึงซึ่งวิปปการต่างๆ และมนุษย์ทั้งหลายได้ทัศนาการเห็นพระบวรรูปสิริวิลาสล้วนมีจิตปฏิพัทธ์สิเน่หายิ่งนัก ปิ้มปานประหนึ่งว่าจะเป็นอุมมัตตกะชาติ ถึงซึ่งสติวิปลาสด้วยพระรูปโฉมถ้วนทุกๆคน”
ชัดเจนและแจ่มแจ้ง ในความงามของพระธิดาองค์นี้ ผู้ที่ยืนยันถึงความงามชนิดนี้ได้ท่านหนึ่งก็คือ โกณฑัญญะ สมัยนั้นพระเจ้าสีหนุมีพระประสงค์จะให้โอรสของตนอภิเษกกับสตรีผู้มีความงามถึงพร้อมด้วยอิตถีลักษณะ ๖๔ ประการ จึงรับสั่งให้พราหมณ์ ๘ คนออกค้นหาสตรีดังกล่าวนี้
โกณฑัญญะ เป็นหนึ่งในพราหมณ์ทั้ง ๘ ผู้เจนจบไตรเพทและศิลปะศาสตร์ ๑๘ ประการ
พราหมณ์ทั้ง ๘ เที่ยวสืบเสาะหาสตรีดังกล่าวนี้ทั่วทั้ง ๘ หมื่อน ๔ พันตำบล ก็มิได้พบสตรีที่มีลักษณะ ๖๔ ประการ ได้เห็นแต่สตรีที่มีอิตถีลักษณะ ๑๘ ประการอยู่บ้าง ก็มิได้ย่อท้อ
จึงผ่านมายังเมืองเทวทหะนคร
ได้เห็นพระธิดาพระองค์หนึ่ง ประทับบนบัลลังก์ที่แวดล้อมไปด้วยนารีบริวารทั้งหลาย จึงได้เข้าไปดูใกล้ๆ
ความตอนนั้นพรรณนาว่า “พราหมณ์ทั้ง ๘ มิอาจดำรงสถิตอยู่ได้ ด้วยได้เห็นพระสิริลักษณะวิลาศล้ำเลิศอเนกนิกรนารี ถึงมุฬหะสัญญีวิปลาสจากสติสมปฤดี(เสียสติหลงไม่รู้ตัว) บ่มิรู้สึกตนว่านุ่งห่มผ้าประดับกายาประการใด เจรจาพึมเพ้อหลงใหลมีนานัปการ”
พระราชธิดาเห็นเหตุการณ์นั้น จึงใช้ให้นางปริจาริกาผู้หนึ่งไปถามดูให้รู้เหตุ ขณะนั้นโกณฑัญญะพราหมณ์ ผู้ถึงฝั่งแห่งศิลปะศาสตร์ ๑๘ ประการ มีบุญบารมีที่ได้บำเพ็ญมาแต่กาลก่อนกลับได้สติสัมปชัญญะ มีสมาธิตั้งจิตขึ้นได้ แจ้งวัตถุประสงค์ของตนกับพวกให้นางปาริจาริกา ทราบ
พระราชธิดารับสั่งให้โกณฑัญญะมาเฝ้า และตรัสถามถึงความประสงค์ของพราหมณ์ พระธิดามีเสียงอันไพเราะยิ่งนัก ผู้ใดได้ฟังเสียงก็ถึงกับหัวใจทะลวง จนถึงกับสลบล้มพับไปต่อหน้าต่อตา
ดังความพรรณนาว่า
“เมื่อโกณฑัญญะ ได้สดับพระสุรศัพท์สำนวนมธุรสารเสนาะ ดุจสำเนียงแห่งท้าวมหาพรหม ปานประดุจเสียงสกุณการะเวกและเสียงขับแห่งสกุณกินนรีอันไพเราะ เป็นปิยกถาบริบูรณ์ไปด้วยลักษณะอันนำมาซึ่งมโนภิรมณ์แห่งมหาชนทั้งปวง ครุวนาดุจทำลายอุระล้วงเข้าไปจับเอาดวงหฤทัยและลำไส้ใหญ่น้อย และพราหมณ์นั่นก็มัวเมาไปด้วยราคฤดี มีกายและจิตลำบากก็ล้มลงวิสัญญีภาพในที่นั่น”
โกณฑัญะพราหมณ์ เพียงได้ยินเสียงพระธิดาก็เป็นลมสลบไปต่อหน้าต่อตาตรงนั้น จนพระธิดาให้เอาน้ำสีโตทกะวารีมารดกาย จึงได้ฟื้นคืนสติ แล้วเจรจาเรื่องที่พระเจ้าสีหนุรับสั่งให้ตามหาสตรีที่มีลักษณะ ๖๔ ประการ เพื่อจะทำการอภิเษกกับพระราชกุมารของพระองค์นามว่า สุทโธทนะ เป็นลำดับไป
ในที่สุดพระธิดาผู้เลิศพระองค์นี้ ก็ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสุทโธทนะและทรงมีพระราชโอรสผู้ยิ่งใหญ่พระนามว่า สิทธัตถะราชกุมาร ผู้มาบังเกิดในพระครรภ์ของพระนาง เพื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณโปรดสรรพสัตว์เพื่อพ้นจากทุกข์สังสารวัฏฏ์ต่อไป
ก็พระราชธิดาผู้เลิศยิ่งนี้ ทรงพระนามว่าอะไรเล่า ?

วิถีแห่งการศึกษา

ศ. วรรณสอน : เขียน

การศึกษา นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้ชีวิตของเรานั้นมีความเจริญก้าวหน้า พัฒนาจนเจริญสุดขีด สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตของแต่ละชนชั้นให้มีประสิทธิภาพทันเหตุการในสังคมปัจจุบันได้ ชีวิตของมนุษย์นั้นต้องแสวงหาความรู้ ให้ได้ปัญญาในการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ความรู้ดี ความสามารถดี พร้อมทั้งพัฒนาให้ถูกต้องโดยมีปัญญาเป็นประกัน การศึกษาด้านคุณธรรม-จริยธรรม เหล่านี้ถือว่าเป็นบรรทัดฐานของชีวิตที่ดีงาม นี้แหละที่สังคมบัณฑิตยอมรับกันและต้องการมาก พัฒนาการนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ
๑.การพัฒนาทางกาย เมื่อเราเกิดมามีร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เราสามารถที่จะศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คราใดที่โรคภัยมาเบียดเบียนหรือร่างกายไม่สมประกอบ จะทำให้การศึกษาของเราไม่สมบูรณ์แบบได้ ร่างกายจึงมีความสำคัญมากที่จะไต่เต้าไปสู่การศึกษาที่ดี
๒.การพัฒนาทางสังคม เราไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียว ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยผู้อื่น พึ่งพาอาศัยกัน อยู่ในสังคมก็ต้องช่วยเหลือกัน ให้ความอนุเคราะห์ซึ่งกันและกันตามแต่ความสามารถของบุคคลนั้นๆจะทำได้ คนปัจจุบันนี้เห็นแก่ตัว อิจฉาริษยา แก่งแย่งความเป็นใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการขาดคุณธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน จนทำให้สังคมวุ่นวายกันไปทั่วหล้า มีความทุกข์มาก แก้ปัญหาได้น้อย ชีวิตคน ณ ปัจจุบันจึงยุ่งเหยิง
๓.การพัฒนาการทางใจ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนเราทุกวันนี้ถูกเลี้ยงเฉพาะร่างกายโดยส่วนมาก ร่างกายใหญ่โตแต่สมองแคบ (ปัญญา) เมื่อมีปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยตนเอง มิหนำซ้ำยังขาดการฝึกฝนที่ดี สมาธินี่เองเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างเกิดความสงบ ในที่สุดการศึกษาก็ขาดเรื่องของสมาธิไม่ได้ คนไหนมีสมาธิดีก็จะเรียนเก่ง ท่องจำได้ง่าย กว่าพวกที่มีสมาธิสั้นหรือไม่มีสมาธินั่นเอง ความรู้จะต้องคู่คุณธรรม การศึกษาดีจะต้องมีปัญญาที่ประกอบด้วยความถูกต้องเที่ยงธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร อีกทั้งน้ำใจนี่ก็สำคัญ จิตใจจึงเกี่ยวข้องกับการศึกษาดังนี้
๔.การพัฒนาทางปัญญา ปัญญาคือความรอบรู้ ไตร่ตรอง พิจารณา การพัฒนาทั้ง ๓ ด้านที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นเบื้องต้นก่อน ปัญญาเป็นความฉลาดที่เกิดหลังจากศึกษาและเข้าใจแล้ว สามารถที่จะพัฒนาชีวิตให้ดีงามได้เหมือนกัน สามารถที่จะพาตนครอบครัวและสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง
การศึกษา ก็เช่นเดียวกันเราเรียนรู้แล้วก็ต้องรู้จักแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นทางรูปธรรม ทางนามธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นของคู่กันเราจึงควรประกอบให้สมบูรณ์ คุณภาพการศึกษาและวิถีชีวิตจึงจะทันกับสมัยปัจจุบัน ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ การศึกษาจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของคนเรา ควรพัฒนาให้เจริญยิ่งและการศึกษาที่ดีต้องมีคุณธรรมมาเป็นตัวควบคุมหรือประกอบจึงจะสมบูรณ์
การศึกษาคือทางสร้างชีวิต เป็นเข็มทิศนำทางสว่างไสว
การศึกษาพาให้รู้กว้างไกล ตลอดไปทั่วแคว้นแดนโลกกลม
เมื่อศึกษาได้ครบจบหลักสูตร ทั้งอ่านพูดคิดเขียนเรียนผสม
เอาไว้แก้ปัญหาคราโศกตรม ไม่เลิกล้มท้อแท้ทางแก้มี
คุณธรรมนำจิตไม่ผิดเพี้ยน ตั้งความเพียรทำบุญกุศลศรี
ปัญญามองรอบคอบประกอบดี ส่องโสภีรู้แจ้งทุกแห่งไปฯ

รสชาติที่ไม่ขาดหาย

สายลมที่พัดผ่านมาทางหน้าต่างเบาๆ ในเวลาที่ดึกสงัดเมื่อพัดลมหยุดหมุนก็แสดงว่าไฟดับคงมีแต่ความเงียบวังเวงเพียงอย่างเดียวเท่านั้นความมืดมิดสนิทเหมือนกับโดนปิดตามองไม่เห็นอะไรเลย มือคว้าหาเทียนที่พอให้แสงสว่างได้พอบรรเทาความวังเวงและความมืดมิด เมื่อลมแรงพัดกระทบกับหน้าต่างที่เปิดแง้มไว้ดังกึก ๆ เหมือนมีคนมาเคาะก็ทำให้น่าคิดไปต่างๆ แล้วด้วยธรรมชาติของคนทำให้หัวใจไม่อยู่กับที่มันเริ่มมากระทบแล้วเริ่มถามว่า อะไร ทำไม ใคร วนเวียนในสมองที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ได้ไหลออกมาทำให้นอนไม่หลับ คิดแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ได้แต่มันห้ามไม่ได้นะ อีกซีกของสมองบอกว่าหาปากกามาแล้วอีกด้านผ่านสายตามองหากระดาษที่เหลือจากการเขียนงานที่เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อยมาละเลงความสะใจว่าไปนั้นหรือ
เสียงเด็กร้องไห้จากข้างบ้านพักทำให้ความคิดมันพุดมาอีกรอบเด็กก็คือเด็กอยู่ดีนั้นเอง จะเอาอะไรมาก กับเรื่องแบบนี้ใจมันก็วุ่นวายมาอีกรอบ พอคิดไปมาตามันสว่างอีกรอบสมองก็สั่งไปที่ใจอีกรอบว่าพอได้แล้วคิดมากไม่มีประโยชน์เรื่องธรรมดาแบบธรรมชาติอยู่แล้วมีอะไรอีกแต่จะห้ามความคิดคงไม่ได้มันไม่มีเครื่องบังคับนอกจากเราเอง ช่างมันความคิดไม่ผิดแน่ถ้าคิดดี แต่อย่าคิดมากไม่ดีแน่ มีคนส่วนมากบอกว่าคนที่คิดมากนั้นบ้าคงไม่จริงหรือคนบ้าไม่คิดอะไรเพราะที่เราเห็นเขาทำได้ทุกอย่างเขาคงไม่คิดมากแน่ แต่คนที่คิดมากทำได้อย่างเดียวแต่นี้นี้คือความต่างหรือเปล่า แต่เมื่อนั่งอยู่นานสายตายสอดส่องไปที่หิ้งพระที่แสงเทียบกระทบกับพระพักต์ของพระพุทธรูปคล้ายว่าเป็นทางที่ดีว่าพระพุทธองค์ทรงสอนเราเรื่องความจริง แต่เรายังหนีไม่พ้นเหมือนทำใจได้สักพักใหญ่พลางสั่งตัวเองให้หยุดดีกว่าเพราะไม่น่าคิดเลย เหมือนประหนึ่งว่าพอ แ ต่ไม่ขาดหาย เช่นกับแสงเทียนที่จุดในเวลาที่ไม่มีลมคล้ายจะสว่างได้ แต่เมื่อมีลมแรงมาพัดเข้าก็เหมือนกับจะดับในทันที ชีวิตคงเป็นแบบนี้มีลงขึ้นเสมอมองดูแล้วคงไม่แปลก หรือถ้าว่าชีวิตเป็นเพียงสิ่งที่ดำเนินตามแบบเท่านั้นหรือว่า จะเป็นแบบรางรถไฟที่รอการบดขยี้จากล้อเหล็กเหมือนไม่สะทกสะท้านเพียงแค่การเวลาเท่านั้นเองนี้หรือชีวิต การบดทับครั้งแล้วครั้งเล่าของรถที่หนักคงไม่ต่างจากชีวิตที่ทรหดต่อสู้ตลอดเวลา แต่นี้คนไม่ใช่รางรถไฟเหล็กกล้า แค่ลมมากระทบก็บอกได้ถึงความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร หลายชีวิตที่พบกับความจริงแต่หารู้ไม่ว่าคือความจริง เพราะตื้นเช้ามาก็พบกับแสงอาทิตย์ที่สดใสในวันฟ้าสด บ้างครั้งฟ้าครึ้มก็มีแสงจางๆ แต่ทุกอย่างมีความต่างกันมันไม่แน่นอน เคยมีคำกล่าวที่บอกเสมอว่า ทุกชีวิตที่ผ่านมากาลเวลาที่ผ่านไปบ้างสิ่งเป็นไปได้ บ้างครั้งเป็นในสิ่งที่ไม่อยากจะให้เป็น เพราะเมื่อมีความสุขก็จะอยู่นานๆ แต่ถ้ามันมีบางอย่างมาขัดก็ไม่พอใจเลย คนเราเกิดในโลกไม่มีใครที่สามารถบอกได้ว่าจะมีความสุข แม้แต่พระพุทธเจ้ายังไม่บอกเลย การดำเนินชีวิตไม่ใช่การทำสงครามแต่เพียงแค่ต้องการชัยชนะในชีวิตเท่านั้นเอง แม้แต่การทำสงครามก็ไม่ใช่ชีวิตของสงครามแต่ชัยชนะคือจุดจบของสงครามเหมือนจุดจบของชีวิตคือความตายในขณะที่กำลังดำเนินชีวิตทุกท่านพบกับอะไรหลายอย่างการเผชิญหน้ากับโลกของความจริงที่เป็นเรื่องธรรมดาที่ดาของมนุษย์ มีน้อยคนนักที่บอกว่าปกติกับทุกเรื่องเพียงแค่การแสดงออกมามากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง มีบ้าที่บอกว่าเป็นสมดุลของชีวิต หรือเพียงแค่ปัดอารมณ์ความวุ้นว่ายเท่านั้นเอง แต่ก็ยังดำเนินในเส้นทางเดียวกันเท่านั้นเอง เมื่อชีวิตที่ดำเนินในเส้นทางที่เป็นเส้นตรงและราบเรียบก็สบายแต่การดำเนินที่ไม่รู้ว่าข้างหน้านั้นมีหลุม ก็พอที่จะหาทางแก้ไข้หรือเลี้ยงได้ แต่ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมคงล้มหรือเจ็บได้โดยไม่รู้ตัว
ทุกชีวิตล้วนมีความหมาย
เกิดตายเป็นสิ่งจริงแท้
ทุกๆอย่างล้วนต้องฝันแปร
เพียงแค่รอวันและเวลา
บ้างครั้งอยากเป็นเช่นเขา
ก็เลยทักเดาเอาเองว่า
ต้องมีต้องเป็นคืออวิชชา
ไม่รู้เลยว่าตัวเองคือใคร
เพียงแค่พอใจใช่ไหมเล่า
เป็นเพียงตัวเราหรือไฉน
ไม่ต้องมองคนอื่นว่าเป็นไง
ตัวเราไซ้ให้มองทั่วรู้ตัวเอง

พระประวัติองค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ โดยสังเขป

องค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ ทรงมีพระนามว่า เท็นซิน กยัตโช (Tenzin Gyatso) ประสูติเมื่อวันที่ ๒ กรฎาคม ๒๔๗๘ อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของพระองค์ที่ชาวโลกรู้จักและคงจะหาไม่พบในพระภิกษุรูปอื่นนั่นก็คือ พระองค์ทรงเป็นผู้นำทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักรของชาวธิเบต (the Head of the State and the Spiritual Leader of the Tibetan people) พระองค์ทรงเป็นพระกษัตริย์หรือกษัตริย์พระของชาวธิเบต (His Holiness is the God-King of the Tibetan people.)
เมื่อองค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ มรณภาพ กาลต่อมาพระลามะชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้เสาะแสวงหาเด็กน้อยที่เป็นองค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ กลับชาติมาเกิดทั่วสารทิศของธิเบต คณะผู้แสวงหาเหล่านั้นได้พบเด็กน้อยนามว่า ลาโม ธอนดุบ (Lhamo Dhondup) ณ หมู่บ้านตักเชอร์ (Taktser) จังหวัดอัมโด (Amdo) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของธิเบต ขณะที่ค้นพบเด็กน้อยมีอายุเพียง ๒ ขวบ พระลามะชั้นผู้ใหญ่ได้ทดสอบตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาจนมั่นใจว่า เด็กน้อยคนดังกล่าวเป็นองค์ทะไล ลามะที่๑๓ กลับชาติมาเกิด หนึ่งในกรรมวิธีการพิสูจน์ก็คือ การนำพระบริขารขององค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ มาปนกับบริขารที่มิใช่ขององค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ เพื่อให้เด็กน้อยได้เลือก ปรากฏว่าเด็กน้อยนามว่า ลาโม ธอนดุบเลือกพระบริขารขององค์ทะไล ลามะที่ ๑๓ ได้ถูกต้องทุกประการ
ตุลาคม ๒๔๘๒ ขณะมีอายุได้เพียง ๔ ขวบ เด็กน้อยนามว่า ลาโม ธอนดุบ ได้รับการนำเข้าไปอบรมเลี้ยงดูที่พระราชวังโปตาลา (Potala Palace) ณ กรุงลาซา (Lhasa) เพื่อเตรียมความพร้อมขึ้นสู่บัลลังก์แห่งความเป็นองค์ทะไล ลามะ องค์พระประมุขของชาวธิเบต และวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๓ รัฐบาลธิเบตได้จัดพิธีสถาปนาองค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ อย่างสมพระเกียรติ ณ กรุงลาซาเมืองหลวงของธิเบต (The enthronement ceremony took place on February 22, 1940 in Lhasa, the capital of Tibet.) ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๕ พรรษา และในวันพิธีสถาปนาได้มีการเปลี่ยนพระนามจาก ลาโม ธอนดุบ เป็น Jetsun Jamphel Ngawang Lobsang Yeshe Tenzin Gyatso (Holy Lord, Gentle Glory, Compassionate, Defender of the Faith, Ocean of Wisdom)
ปี ๒๔๙๒ พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ในปีนั้นกองกำลังทหารคอมมิวนิสต์จากประเทศเพื่อนบ้านคือจีนได้เริ่มเข้ารุกรานธิเบตเพื่อหวังยึดครอง ชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศทั่วทุกตารางนิ้วของธิเบตต่างออกมาต่อสู้และขับไล่กองกำลังทหารที่เข้ามารุกราน แต่ก็มิสามารถหยุดยั้งกองกำลังทหารจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ นายที่ชำนาญยุทธวิธีได้ ลุถึงปี ๒๔๙๓ ขณะนั้นองค์ทะไล ลามะทรงมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา การต่อสู้ระหว่างชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศกับกองกำลังทหารจีนที่เข้ามารุกรานก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อเหตุการณ์ยังดำเนินไปเช่นนี้รัฐบาลธิเบตและชาวธิเบตได้พร้อมใจกันขอให้องค์ทะไล ลามะทรงรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลธิเบต วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เป็นวันที่พระองค์ทรงรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลธิเบต นับเป็นพระภารกิจที่ใหญ่หลวงนักของผู้นำประเทศที่มีพระชนมายุเพียงแค่ ๑๕ พรรษาที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบในยามที่ประเทศเกิดความเดือนร้อนอันเนื่องมาจากการรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านที่มีกองกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่า อนึ่ง เนื่องจากธิเบตเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ และชาวธิเบตเองทุกย่อมหญ้าต่างออกมาต่อสู้กับกองกำลังทหารที่เข้ามารุกรานประเทศของตนเองอย่างมิหวาดหวั่นพรั่นพรึง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่กองกำลังทหารจีนจะยึดครองธิเบตได้ในระยะเวลาอันสั้น ลุถึงปี ๒๔๙๗ องค์ทะไล ลามะได้ทรงเดินทางไปกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีนเพื่อเจรจาสันติภาพกับเหมา เจ๋อตุง และผู้นำคนสำคัญอื่นๆของจีน ผลการเจรจาสันติภาพไม่บรรลุข้อตกลงตามที่พระองค์ทรงหวังไว้ การต่อสู้ระหว่างพระภิกษุธิเบตพระภิกษุณีธิเบตและชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศกับกองกำลังทหารจีนที่เข้ามารุกรานไม่มีท่าทีจะยุติลง นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๒ ชาวธิเบตได้ลุกฮือรวมตัวกันเป็นจำนวนมหาศาล ณ กรุงลาซาอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ธิเบตเพื่อต่อสู้ขับไล่ให้มีการถอนกองกำลังทหารจีนออกจากธิเบตเพื่อปลดปล่อยให้ธิเบตเป็นอิสระ และคงเป็นเพราะคำว่าสงครามมักไม่มีคำว่า ปรานี การออกมาต่อสู้อย่างหาญกล้าของชาวธิเบตจึงถูกกองกำลังทหารจีนเข้าปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ชาวธิเบตเป็นจำนวนมากต้องมาจบชีวิตลงด้วยน้ำมือแห่งความอำมหิตของผู้ที่เข้ามารุกราน เมื่อเหตุการณ์ยังนองเลือดอยู่เช่นนี้พระลามะชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ปรึกษากันและได้ขอให้องค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย วันที่องค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยคือ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๒ พระองค์ทรงต้องเปลื้องไตรจีวรออกและทรงสวมชุดคล้ายทหารแทนเพื่อป้องกันความโชคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ต้องเจอกองกำลังทหารจีนระหว่างทาง ทั้งนี้เพราะว่าชุดไตรจีวรย่อมเป็นจุดเด่นกว่าชุดเสื้อผ้าทั่วๆไป ความรู้สึกของพระองค์หรือใครก็ตามที่ต้องลี้ภัยออกจากประเทศอันเป็นที่รักห่วงแหนยิ่งของตนเช่นนี้คงยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดให้เข้าใจถึงความรู้สึกได้ พระองค์ทรงลี้ภัยพร้อมด้วยคณะผู้ติดตามจำนวนหนึ่งที่พร้อมทำหน้าที่อารักขาความปลอดภัยผู้นำอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของตนเอง พระองค์ทรงเดินทางประมาณ ๒ สัปดาห์จึงลุถึงพรมแดนอินเดียอย่างปลอดภัย
วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๐๒ เป็นวันที่พระองค์ทรงเดินทางลี้ภัยถึงพรมแดนอินเดีย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการเคารพอธิปไตยของอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกันหรือประเทศเพื่อนบ้าน พระองค์ได้ทรงตัวแทนไปเจรจาขอลี้ภัยกับ ฯพณฯ ยวาลหะลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้น และฯพณฯ ยวาลหะลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียก็มีความเต็มใจให้พระองค์ทรงลี้ภัยในประเทศอินเดีย เมื่อองค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยในประเทศอินเดียได้ไม่นาน ต่อมาชาวธิเบตประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คนได้ลี้ภัยตามผู้นำของตนเองและเพื่อหนีการคุกคามรุกรานของกองกำลังทหารจีน ในปีแรกแห่งการทรงลี้ภัยคือปี ๒๕๐๒ องค์ทะไล ลามะได้ทรงเดินทางไปสหประชาชาติเพื่อเรียกร้องเสรีภาพคืนให้กับธิเบต และได้ทรงเดินทางไปสหประชาชาติอีกในปี ๒๕๐๔ และ๒๕๐๘ ปัจจุบันธิเบตยังถูกจีนยึดครองน่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่า สหประชาชาติให้ความสำคัญกับปัญหาธิเบตมากน้อยเพียงใด และอาจเป็นเพราะว่าจีนเป็นหนึ่งในเจ็ดประเทศมหาอำนาจของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ อนึ่ง องค์ทะไล ลามะได้เคยตรัสว่า “นานาประเทศให้ความสนใจกับปัญหาธิเบตน้อยมากทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าธิเบตมิมีน้ำมันเหมือนคูเวต” (Tibet receives little attention from the rest of the world. Tibet is not like Kuwait. Kuwait has oil.) อย่างไรก็ตาม องค์ทะไล ลามะมิเคยสิ้นหวังกับการเรียกร้องเสรีภาพอย่างสันติวิธี การประชุมสิทธิมนุษยชนที่กรุงวอชิงตันดีซีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๐ พระองค์ทรงเสนอแผนสันติภาพ ๕ ประการ (The Five Point Peace Plan) เพื่อให้มีการแก้ปัญหาธิเบตถูกยึดครองอย่างเป็นรูปธรรม สาระสำคัญของแผนดังกล่าวคือ
๑. ให้ถือว่าธิเบตเขตสันติภาพ
๒. ระงับนโยบายการอพยพพี่น้องชาวจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในธิเบตซึ่งเป็นการเบียดเบียนชาวธิเบตผู้เป็นเจ้าของประเทศ
๓. เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและประชาธิปไตยของชาวธิเบต
๔. อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของธิเบต และงดเว้นการใช้พื้นที่ธิเบตเป็นที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์หรือทิ้งกากอาวุธนิวเคลียร์
๕. มีการเจรจาสถานภาพในอนาคตของธิเบตและความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ธิเบตอย่างเป็นทางการ
องค์ทะไล ลามะ ทรงเรียกร้องเสรีภาพคืนให้กับธิเบตอย่างมิเคยย่อท้อหรือสิ้นหวัง ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงตระหนักถึงพระภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องทรงรีบทำไปพร้อม ๆ กับการเรียกร้องเสรีภาพ ก็คือ การดำรงประชากรธิเบตพลัดถิ่นและประเพณีวัฒนธรรมธิเบตให้คงอยู่ ฉะนั้น จึงได้มีการก่อสร้างวัดวาอารามกว่า ๒๐๐ วัดทั่วอินเดียที่มีชาวธิเบตพลัดถิ่นอาศัยอยู่เพื่ออนุรักษ์คำสอนทางพระพุทธศาสนาแบบธิเบตซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของวิถีชีวิตแบบธิเบต มีการก่อสร้างโรงเรียนเพื่อให้ลูกหลานชาวธิเบตได้มีความรู้ภาษา ประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมของตนเอง มีการจัดตั้งสถาบันนาฏศิลป์ธิเบต (Tibetan Institute of Performing Art) และสร้างมหาวิทยาลัยธิเบต คือ Central Institute of Tibetan Higher Studies เพื่อลูกหลานชาวธิเบต และที่อดภาคภูมิใจแทนไม่ได้นั้นก็คือ ชาวธิเบตแม้พลัดถิ่นแต่ก็ยังเคร่งครัดมั่นคงในพระพุทธศาสนาที่ตนเองนับถือ และดำรงวิถีชีวิตตามแบบฉบับของตนเองไว้ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่งนัก เสมือนหนึ่งบอกให้ทราบว่า แม้พลัดถิ่นแต่ก็ไม่มีใครหน้าไหน ไม่ว่าหน้าอินทร์หรือหน้าพรหมจะพลัดพรากพระพุทธศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมไปจากฉันได้ นอกจากตัวฉันเท่านั้น ความข้อนี้ผู้ที่ได้มานมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียและได้พบพุทธศาสนิกชนชาวธิเบตน่าจะเข้าใจได้ชัด
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานแห่งการพลัดถิ่น องค์ทะไล ลามะองค์พระประมุขของชาวธิเบตได้ทรงเดินทางไปต่างประเทศกว่า ๕๒ ประเทศ และได้ทรงเดินทางมาประเทศไทย ๓ ครั้ง คือในปี ๒๕๑๐, ๒๕๑๕, ๒๕๓๖ พระองค์ทรงเดินทางไปต่างประเทศเพื่อบรรยายธรรม และที่พระองค์ทรงเน้นมาก ก็คือ สันติภาพ เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีผลงานที่โดดเด่นและทรงมีจุดยืนที่ชัดเจนในด้านสันติภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอนุรักษ์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆได้ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และรางวัลด้านสันติภาพหรือสิทธิมนุษยชนแด่พระองค์ทรงกว่า ๕๐ รางวัล ล้วนแต่เป็นรางวัลระดับนานาชาติ และที่ชาวโลกรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้นก็เมื่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลได้มีมติถวาย รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แด่พระองค์ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๓ เป็นวันที่พระองค์ทรงรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นานาประเทศล้วนเผยแพร่ข่าวอันเป็นมงคลยกเว้นประเทศเดียวคือ ประเทศที่รุกรานและยึดครองธิเบต นอกจากนี้ องค์ทะไล ลามะทรงมีผลงานด้านพระนิพนธ์มากกว่า ๕๐ เล่ม อาทิ The Art of Happiness; The World of Tibetan Buddhism; Violence and Compassion; Love, Kindness and Universal Responsibility; Cultivating a Daily Meditation; My Land and My People; Dalai Lama’ Little Book of Wisdom เป็นต้น
พูดถึงความเคารพศรัทธาของชาวธิเบตที่มีต่อองค์ทะไล ลามะผู้นำของตนเองตามที่ผู้เขียนได้สัมผัสเป็นระยะเวลา ๑ เดือนกว่า (๒๘ พ.ค. ๔๙- ๓ ก.ค. ๔๙) ณ เมืองดาร์จีลิ่ง และบ่อยครั้งที่ได้สนทนากับนักศึกษาธิเบต ณ Central Institute of Tibetan Higher Studies ซึ่งตั้งอยู่ที่สารนาถสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ความเคารพศรัทธาที่ชาวธิเบตมีต่อผู้นำของตนเองนั้นมีมากมายแค่ไหน คำตอบคือ ชาวธิเบตเป็นผู้ที่ศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา องค์ทะไล ลามะทรงเป็นผู้นำทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักร ความเคารพศรัทธาของชาวธิเบตต่อผู้นำของตนเองย่อมมีเป็นทวีคูณ และอาจกล่าวได้ว่าคงไม่น้อยกว่าชาติใดในโลก เพราะโดยทั่วไปคนเราไม่ว่าชาติใดย่อมมีความเคารพศรัทธาต่อผู้นำของตนเองเป็นพื้นฐาน อนึ่ง บทเพลงธิเบตที่ถอดความเป็นภาษาอังกฤษ (a rough translation) คงเป็นตัวอย่างแห่งความเคารพศรัทธาที่ชาวธิเบตมีต่อองค์ทะไล ลามะ ผู้นำของตนเองได้เป็นอย่างดี
But even if I have no food at all for a week
I will never forget the Dalai Lama’s kindness.
ปัจจุบัน (๒๕๕๐) องค์ทะไล ลามะทรงมีพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ทรงประทับอยู่ที่ธรรมศาลา (แม็คลอดกันจ์) ในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลธิเบตพลัดถิ่น (Tibetan Government-in-Exile) หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Central Tibetan Administration of H.H. the Dalai Lama (CTA) พระองค์ทรงงานอย่างหนักในฐานะผู้นำประเทศ และทรงเดินทางไปพบชาวธิเบตพลัดถิ่นพสกนิกรของพระองค์ทั่วอินเดียทุกปี อาทิ ที่พุทธคยา สารนาถ คานาร์ตะกะ เป็นต้น พระองค์ทรงเดินทางไปบรรยายธรรมต่างประเทศอยู่เนื่อง ๆ เพื่อสันติภาพของโลก
องค์ทะไล ลามะทรงลี้ภัยที่อินเดียเพื่อหวังเรียกร้องเสรีภาพคืนให้กับธิเบต และจักเสด็จกลับธิเบตเมื่อธิเบตได้เสรีภาพคืน ตั้งแต่วันที่ทรงลี้ภัยจวบจนปัจจุบันปี ๒๕๕๐ และเป็นปีที่ ๔๘ แห่งการทรงลี้ภัย พระองค์ยังไม่มีโอกาสเสด็จกลับธิเบตประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ องค์ทะไล ลามะจักได้เสด็จกลับธิเบตดินแดนแห่งมาตุภูมิหรือไม่ในอนาคต คำตอบนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันที่ชัดเจนและที่จะเป็นแบบอย่างแก่มวลมนุษยชาติก็คือ องค์ทะไล ลามะทรงเป็นบุคคลผู้มิเคยสิ้นหวัง พระองค์ได้ตรัสกับชาวธิเบตพสกนิกรของพระองค์ว่า มิว่าอะไรจะเกิดขึ้นจงอย่าสิ้นหวัง... (No matter what is going on, never give up…) พระองค์ทรงเป็นบุคคลสันติภาพของโลก (His Holiness is a man of peace.) พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวตะวันตกอันเนื่องมาจากที่พระองค์ทรงเดินทางไปแสดงธรรมแก่ชาวตะวันตก และพระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของชาวธิเบต...

ความดีของบทความนี้ ผู้เขียนขอถวายแด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระเท็นซิน กยัตโช องค์ทะไล ลามะที่ ๑๔ พระองค์ทรงทำงานอย่างหนักเพื่อชาวธิเบตและเพื่อสันติภาพของโลก ขอถวายแด่ กองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาทวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นกองทุนที่บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งโดยมี พระเดชพระคุณพระเทพญาณวิศิษฎ์ เป็นประธาน พระเดชพระคุณพระศรีญาณโสภณ เป็นรองประธานตลอดจนถึงคณะกรรมการและผู้ที่มีส่วนร่วมทุกท่าน ขอมอบความดีนี้แก่ คุณโยมกัลยา เนื่องจำนงค์ แห่งกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาทวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกที่ได้มีส่วนอุปถัมภ์การศึกษาของผู้เขียน และขอมอบแก่ญาติโยมคณะ A.I.A. มายด์ วาเคชั่น ธรรมจารีทัวร์ ศรัทธาทัวร์ สุทธิธรรมทัวร์ เอ็นซีทัวร์ ญาติโยมทุกท่านที่มาเยี่ยมพระนักศึกษาที่หอสิทธารถวิหาร ตลอดจนถึงขอมอบแก่ ชาวธิเบตที่ต้องพลัดพรากจากบุพการี ญาติพี่น้อง บุคคลอันเป็นที่รัก และดินแดนมาตุภูมิอันเป็นที่รักยิ่ง แต่ก็ยังดำรงวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้อย่างน่าชื่นชม

 

ผู้ติดตาม

ออนไลน์หน้านี้

free counters